มหาสารคาม 21 ก.พ.- สุดยอดนักวิจัย ม.มหาสารคามค้นพบ “หอยแก้วน้อย” หอยทากบกชนิดใหม่ของโลก เฉพาะที่เขาหินปูนในจังหวัดเลย บ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสัตวภูมิศาสตร์
ผศ.ดร.ชนิดาพร ตุ้มปี่สุวรรณ และอาจารย์ ดร. ศักดิ์บวร ตุ้มปี่สุวรรณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร. กิตติ ตันเมืองปัก มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เปิดเผยถึงความสำเร็จในงานวิจัยค้นพบหอยทากบกชนิดใหม่ของโลกว่า หอยทากบกชนิดใหม่นี้ คือ “หอยแก้วน้อย” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Sesara triodon Tanmuangpak & Tumpeesuwan, 2017 เป็นหอยที่มีเปลือกขนาดเล็ก รูปร่างแบน แข็ง เรียบ และใส (ขนาดของเปลือกประมาณ 6-12 มิลลิเมตร) บริเวณขอบปากเปลือกด้านในมีการสร้างติ่งยื่นออกมามีลักษณะคล้ายมีฟัน 3 ซี่ จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Sesara triodon” ซึ่ง “triodon” หมายถึงฟัน 3 ซี่ โดยหอยแก้วน้อยพบได้เฉพาะที่เขาหินปูนบริเวณภูผาล้อม จังหวัดเลย นอกจากลักษณะภายนอกที่ต่างจากหอยในสกุลเดียวกันแล้ว จากการศึกษาลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ระบบสืบพันธุ์ (genital system) และรูปร่างลักษณะของแผ่นฟัน (radula) ก็มีความต่างกัน ซึ่งข้อมูลทั้งสองส่วนนี้นำมาสนับสนุนข้อมูลทางสัณฐานวิทยาของเปลือกจนสามารถแยกออกเป็นหอยทากสปีชีส์ใหม่ของโลกได้
ผศ.ดร.ชนิดาพร กล่าวด้วยว่า การค้นพบหอยแก้วน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าพื้นที่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนเร้น รอการค้นพบอีกมาก ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสัตวภูมิศาสตร์ (Zoogeography) ได้เป็นอย่างดี และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสาร Molluscan Research ในปี ค.ศ. 2017. -สำนักข่าวไทย