ทำเนียบฯ 4 ม.ค.- ครม.เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.บ.จราจร เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น ผู้ขับขี่ ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง ให้ชะลอการชำระภาษีประจำปี ยึด หรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ เพิ่มโทษเมาแล้วขับ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต และเพิ่มมาตรการยึดรถในชั้นศาล หากทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 – 6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต และ หากทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 – 10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกรงกลัวต่อการกระทำผิด เพื่อให้มาตรการป้องกันอุบัติภัยมีประสิทธิภาพ
พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เนื่องจาก วันที่ 1 มีนาคม 2559 ครม.มีมติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ …..) พ.ศ. ….. (เพิ่มช่องทางชำระค่าปรับ) ได้เพิ่มโทษปรับความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 จากเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นั้นส่วนใหญ่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานจราจร พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบ โดยที่ผ่านมามีผู้กระทำความผิดแล้วได้รับใบสั่งให้ชำระค่าปรับแต่มิได้ชำระ ซึ่งพบว่ามาตรการที่ใช้บังคับยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายได้ผลเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการรวมกลุ่ม การมั่วสุม หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่น่าจะนำไปสู่การแข่งรถที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งควรมีการกำหนดความผิดและโทษสำหรับการกระทำดังกล่าวด้วย
ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ …..) พ.ศ. ….. โดยมีสาระสำคัญ คือ 1.ปรับปรุงอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษที่พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานจราจร พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบให้เหมาะกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญาที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วในมาตราต่าง ๆ เช่น มาตรการบังคับผู้ขับขี่ที่ได้รับใบสั่งแล้วไม่ไปชำระค่าปรับ มาตรการนำรถที่ใช้ในการกระทำความผิดมาเก็บรักษาและกำหนดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา การป้องปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ส่งผลให้มาตรการป้องกันอุบัติภัยมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.แก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจากเดิม 1,600 กก. เป็น 2,200 กก. ที่ไม่ต้องขับในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือช่องที่ใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง
พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า 3.ผู้ขับขี่ต้องจัดให้คนโดยสารในรถทุกคนทุกที่นั่งรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ (เดิมระบุเฉพาะผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า) 4.เพิ่มมาตรการบังคับผู้ขับขี่ที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง โดยกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ออกหนังสือแจ้งเตือนผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถให้มาชำระค่าปรับภายใน 15 วัน หากยังไม่ปฏิบัติให้ชะลอการรับชำระภาษีประจำปีไว้ก่อน และให้นายทะเบียนมีอำนาจยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของบุคคลนั้น
5.กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานจราจร พนักงานสอบสวน มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบลมหายใจ ปัสสาวะ เลือดหรือวิธีการอื่นอย่างชัดแจ้งว่าผู้ขับขี่ ได้ดื่มสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ ซึ่งต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและอนามัยของผู้ขับขี่ (ปัจจุบันไม่ได้ระบุว่าการทดสอบให้ใช้วิธีการใดบ้าง) 6.มาตรการยึดและเก็บรักษารถที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบางฐาน (ชั้นตำรวจ) ได้แก่ ฐานขับรถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แข่งรถในทางโดยมิได้รับอนุญาต ….. กำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษารถดังกล่าว (คำสั่ง คสช. 46/2558 มากำหนดไว้ในกฎหมายนี้)
พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า 7.เพิ่มอัตราโทษในความผิดฐานแข่งรถในทางโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 6,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (เดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท) 8.กำหนดความผิดและโทษของการรวมกลุ่มหรือมั่วสุมหรือพฤติการณ์ที่จะรวมกลุ่มเพื่อมั่วสุมที่นำไปสู่ความผิดตามข้อที่ 7) จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 3,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
9.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอื่นๆ เป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต และเพิ่มมาตรการยึดรถในชั้นศาล (ไม่เกิน 7 วัน) ด้วย (เดิมจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 20,000 บาท) หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ จำคุก 1 – 5 ปี ปรับ 20,000 – 100,000 บาท พักใช้ใบอนุญาต ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 2 – 6 ปี ปรับ 40,000 – 120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาต และ หากกระทำความผิดเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 – 10 ปี ปรับ 60,000 – 200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ 11.กำหนดให้ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมีอำนาจสั่งยึดใบอนุญาตขับขี่ได้ด้วย 12.ผู้สั่งยึดใบขับขี่อาจบันทึกการยึดและคะแนน และดำเนินการอบรมทดสอบผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำตั้งแต่ 2 ครั้งใน 1 ปี รวมทั้งสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ที่เสียคะแนนมากของผู้ขับขี่นั้นโดยมีกำหนดครั้งละไม่เกิน 90 วัน 13.ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดซ้ำภายใน 1 ปี ให้เพิ่มจำนวนค่าปรับขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 2 เท่าของจำนวนค่าปรับที่ได้ชำระในความผิดครั้งก่อน และ 14.ผู้ประกอบการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารโดยรถแท็กซี่ที่ไม่จอดรถ ณ สถานที่ที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท (เดิม 1,000 บาท) .-สำนักข่าวไทย