ภูมิภาค 4 ม.ค.-สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง ถนนหลายสายถูกตัดขาด จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนที่ตกติดต่อกัน 3 วัน ทำให้มวลน้ำจากเทือกเขาหลวงไหลท่วมถนนหลายเส้นทางสูง 50-70 เซนติเมตร หนักสุดที่อำเภอชะอวด ร่อนพิบูลย์ จุฬาภรณ์ และทุ่งสง โดยที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงนครศรีธรรมราช อำเภอพระพรหม น้ำท่วมผิวถนนทั้ง 2 ฝั่ง ส่วนสะพานบ้านร่อนนา อำเภอร่อนพิบูลย์ คอสะพานขาด มีชาวบ้านหลายครอบครัวต้องติดค้างอยู่ด้านใน
นอกจากนี้ขบวนรถไฟสายใต้ต้องหยุดเดินรถที่สถานีชุมทางทุ่งสง เนื่องจากน้ำท่วมสันรางบริเวณตำบลที่วังเป็นระยะทางยาวกว่า 300 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องใช้เชือกผูกโยงเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นแนวยึดป้องกันน้ำซัด และจัดรถบัสขนถ่ายผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทาง ส่วนในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง ล่าสุดระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว เหลือเพียงบางจุดที่ยังท่วมขัง
ขณะที่จังหวัดตรัง สถานการณ์น้ำท่วมใน 6 อำเภอ ได้แก่ นาโยง ห้วยยอด ปะเหลียน รัษฎา วังวิเศษ และอำเภอเมือง ยังขยายวงกว้าง หลายพื้นที่มีฝนตกเพิ่ม โดยหมู่ที่ 4 และ 10 ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด น้ำท่วมถนนบายพาสหลักกิโลเมตรที่ 12 แขวงการทางตรังต้องปิดการจราจร 1 ช่องทาง ส่วนหน้าศูนย์ราชการอำเภอรัษฎา และสถานที่ราชการหลายแห่งมีน้ำท่วมสูง20-60 เซนติเมตร ขณะที่บ้านเรือนประชาชนกว่า 300 หลังคาเรือน ถูกน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ซึ่งนับว่ารุนแรงกว่าต้นเดือนธันวาคม จังหวัดต้องประกาศให้อำเภอนาโยง และรัษฎาเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วมฉุกเฉิน
จังหวัดยะลา สถานการณ์น้ำยังน่าห่วง น้ำในแม่น้ำสายบุรี ที่ไหลมาจากต้นน้ำใน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ได้ไหลเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว ชาวบ้านเกือบ 6,000 คน ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ต้องอาศัยเรือท้องแบนในการสัญจร ขณะที่อำเภอรามัน และอำเภอเมือง มีโรงเรียนในสังกัดพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลาเขต 1 ต้องปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด 12 โรง
จังหวัดปัตตานี ที่ขณะนี้หลายหมู่บ้านที่อยู่ติดริมแม่น้ำได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และมวลน้ำเหนือจากจังหวัดยะลาหลากมาสมทบ โดยอำเภอหนองจิกน้ำท่วมขยายวงกว้างเพิ่มอีก 10 ตำบล ชาวบ้านกว่า 150 หลังคาเรือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และเริ่มขาดแคลนอาหารน้ำดื่ม เนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้นับเป็นระลอกที่ 3 ในรอบ 2 เดือน .-สำนักข่าวไทย