กรุงเทพฯ 17 ธ.ค.-ค่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 เดือน ในระดับราคา 35.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงหนุนของสกุลเงินดอลลาร์ฯ จากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และส่งสัญญาณว่า จังหวะการขยับดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้าอาจเร่งขึ้นกว่าเดิมเป็น 3 ครั้ง (จากเดิมในเดือนก.ย. สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง) นอกจากนี้ ค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันจากแรงขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน สำหรับในวันศุกร์ (16 ธ.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.76 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (9 ธ.ค.)
แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (19-23 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดในประเทศจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. ในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อาทิ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนพ.ย. ดัชนี PMI ภาคบริการ ขั้นต้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค. จีดีพีประจำไตรมาส 3/2559 นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,522.51 จุด ลดลงร้อยละ 0.25 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 48,860.13 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 604.07 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.58 จากสัปดาห์ก่อน
ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันอังคาร จากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มพลังงาน ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ โดยนักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ในช่วงการประชุมนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะปรับลดลงต่อในวันพฤหัสบดี หลังเฟดตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับฟื้นตัวเล็กน้อยในวันศุกร์ จากแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศThailand’s SET index
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์หน้า (19-23 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ระดับ 1,510 และ 1,500 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ระดับ 1,530 และ 1,540 จุด ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ตลอดจนภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/59 (Final Est) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดขายบ้านใหม่ ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น.-สำนักข่าวไทย