จุฬาฯ 22 พ.ย.- นักวิชาการเผยไทยกำลังเผชิญสังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีความพร้อม เหตุส่งเสริมการเกิดในอดีตไม่มีคุณภาพ ทั้งการศึกษา-อาชีพ ทำให้ไม่มีเงินวัยเกษียน ชี้รัฐเร่งส่งเสริมการออม
นายนิพนธ์ เทพวัลย์ ศาสตราภิชานวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในวงเสนา “ประชากรไทย:เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร…เราจะไปทางไหนดี”ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ช่วงก่อนปี 2509 ประเทศไทยสมัยนั้น เป็นสังคมเกษตรอยู่ในชนบท แม้มีอัตราเกิดสูงแต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากอัตราเสียชีวิตก็มาก แต่เมื่อผู้นำในสมัยนั้นต้องการสร้างชาติ แนวคิดเพิ่มจำนวนประชากรจึงเริ่มขึ้น ผ่านหลายนโยบาย ทั้งการตั้งกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดอัตราเสียชีวิตจากโรคติดต่อ และกฎหมาย ทำให้มีประชากรอัตราเพิ่มร้อยละ 3.2 ต่อปี นับว่าสูงสุดในโลกอีกประเทศหนึ่ง
ขณะที่การวิจัย พบว่าการเพิ่มประชากร ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมทุกด้าน ทั้งปัญหาต่อคุณภาพชีวิต การออม การศึกษาที่ไม่เพียงพอ และการว่างงาน ปี 2513 ไทยจึงมีนโยบายการคุมกำเนิด สนับสนุนการวางแผนครอบครัวโดยสมัครใจขึ้น เน้นให้คนไทยมีขนาดครอบครัวที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราเพิ่มประชากรให้เหลือ 1.2 ต่อปี หรือประมาณ 61 ล้านคน ซึ่งทำได้สำเร็จ ส่งผลให้ปัจจุบันไทย มีประชากรทั้งหมด 65.3 ล้านคน สัดส่วนของวัยเด็กกลับลดลงเหลือร้อยละ 17.82 เนื่องจากพ่อแม่ มีลูกเฉลี่ยน้อยกว่า 2.1 คนซึ่งเป็นอัตราเจริญพันธุ์ทดแทน หรืออาจไม่มีเลย ส่วนวัยแรงงานลดลงร้อยละ 65.67 โดยเริ่มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ประชากรวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.09 และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยผู้สูงอายุปัจจุบันคือเด็กในยุคที่มีการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา ว่างงานและไม่มีเงินออม ขณะที่ลูกหลานก็มีน้อยลง ไทยจึงประสบปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่ไม่มีความพร้อม ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และขาดแคลนแรงงาน ซึ่งปัจจุบันต้องใช้แรงงานต่างด้าวกว่า 3.9 ล้านคน
ด้านนายเทียนฉาย กีระนันทน์ นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ กล่าวว่า แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 12 (2560-2564) เน้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่เด็กและแรงงานลดลงต่อเนื่อง ผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นและตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพประชากร ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ และผลักผู้สูงอายุเข้าสู่ตลาดเเรงงานมากขึ้นนั้นแต่ก็ไม่ได้อย่างครบถ้วน โดยมองว่า รัฐบาลควรส่งเสริมให้ครอบครัวไทยที่มีความพร้อมให้มีบุตรมากกว่า 2.1 คนหรือสูงกว่าระดับการเกิดทดแทน ผ่านนโยบายจูงใจต่างๆ ขยายอายุเกษียนจาก 60-65 ปี และที่สำคัญที่สุดคือการส่งเสริมการออมที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นหลักประกันรายได้ที่ยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย