กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – กระทรวงพลังงานหารือเข้มหลังศาลปกครองมีคำสั่งตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ‘เครือกัลฟ์’ ที่ชนะประมูลไอพีพี 5,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะหนังสือชะลอส่งเสริมการลงทุน โดยหารือเตรียมอุทธรณ์ ด้านบีโอไอขอดูท่าทีกระทรวงพลังงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (20 ธ.ค.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ห้ามกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ “เครือกัลฟ์” ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี 5,000 เมกะวัตต์ โดยแนวโน้มกระทรวงพลังงานอาจจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ทั้งนี้ ปัญหากัลฟ์ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาตรวจสอบขั้นตอนประมูลไอพีพี 5,000 เมกะวัตต์ และเห็นว่าการชนะประมูลในรัฐบาลชุดที่แล้วดำเนินการไม่เหมาะสม เพราะค่าไฟฟ้าที่ประมูลได้ไม่รวมค่าก่อสร้างสายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องลงทุนสร้างสายส่งไปรองรับอีกกว่า 7,000 ล้านบาท โดย คตร.สั่งให้กระทรวงฯ เจรจากัลฟ์ เพื่อหาทางออก โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.อนันตพร ระบุว่าได้เจรจากับกัลฟ์ให้ลดหรือเลื่อนระยะเวลาก่อสร้างออกไปก่อนจากเดิม จะทยอยเข้าระบบปี 2564-2567
ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ในคดีที่บริษัท อินดิเพนเดนท์ เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัท กัลฟ์ พีดี จำกัด และบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด (เครือกัลฟ์) ผู้ฟ้องคดีกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา กรณีการดำเนินการประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 กรณีการตรวจสอบโครงการประมูลการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producers : IPP) จำนวน 5,000 เมกะวัตต์
โดยศาลปกครองกลางพิพากษาสรุปว่ากรณีที่ คตร.ตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว โดยให้ กกพ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) สำนักงาน กกพ. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ดำเนินการนั้น สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบขององค์กรทางปกครอง แต่ต้องไม่ทำให้ “เครือกัลฟ์” เสียหาย กรณีนี้กระทรวงพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ชะลอการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนแก่ “เครือกัลฟ์” จนข่าวรั่วไปถึงธนาคารไทยพาณิชย์และไม่ให้ปล่อยกู้เงินแก่ “เครือกัลฟ์” จึงทำให้เกิดความเสียหาย
จึงมีคำพิพากษาห้ามกระทรวงพลังงาน ตรวจสอบหรือกระทำด้วยวิธีใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ “เครือกัลฟ์” รวมทั้งห้ามนำผลการตรวจสอบการประมูลโครงการดังกล่าว ไปใช้หรืออ้างอิง ไม่ว่าจะเป็นการภายในหรือต่อหน่วยงานอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหาย และให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปยัง บีโอไอเกี่ยวกับการชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนกับ “เครือกัลฟ์”
ด้านผู้เกี่ยวข้องทั้งนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการ กกพ. ต่างระบุว่าไม่ต้องการออกความเห็นใด ๆ เพราะเป็นคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูท่าทีทางกระทรวงพลังงานว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งในส่วนของบีโอไอยังไม่ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในโครงการดังกล่าว
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าในแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว (2559-2579) ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ได้ประเมินว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะขยับขึ้นจาก 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่ได้มีการตัดลดโครงการของกัลฟ์แต่อย่างใด มีแต่ปรับปรุงบนสมมติฐานโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ และเทพา จังหวัดสงขลา ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน และแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดินหน้าได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้น ซึ่งในส่วนของกัลฟ์ 5,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้ก๊าซ 800-900 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน. – สำนักข่าวไทย