ชลบุรี 22 ก.ย.- พช. ผนึกกำลัง สกพอ. และ ม.บูรพา บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ (EEC) 3 จังหวัด โซ่ข้อกลางสื่อสารความเข้าใจหนุนบัณฑิตจบใหม่ใช้ความรู้พัฒนาบ้านเกิด
วันที่ 22 กันยายน 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้ช่วยศาสตราจารย์ณยศ คุรุกิจโกศล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา ตามโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ
โดยมีนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายร่องกี้ พลเยี่ยม ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก บัณฑิตอาสาโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องศรีราชา วิทยาลัยการพัฒนาชุมชน อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมหาวิทยาลัยบูรพา ที่จะดำเนินงานในพื้นที่เขต เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบจะเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของบัณฑิตจบใหม่ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้อย่างดี อีกทั้งจะเป็นโครงการที่ช่วยให้บัณฑิตจบใหม่ซึ่งเป็นคนพื้นที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองในการพัฒนา ถิ่นกำเนิด เป็นกลไกสำคัญหรือเรียกนัยหนึ่งว่าเป็นโซ่ข้อกลางที่จะช่วยสื่อสารสร้างการรับรู้นโยบายการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกไปสู่ประชาชนในระดับพื้นที่ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่และจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาเสนอให้ สกพอ. ได้นำไปใช้ประกอบการกำหนดแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกันสนับสนุนงานทางวิชาการ และดำเนินการฝึกอบรมบัณฑิตศึกษาให้มีทักษะสามารถทำงานสร้างความร่วมมือในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และข้อเสนอความต้องการของชุมชน
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และมหาวิทยาลัยบูรพา ที่จะร่วมกันสร้างความรับรู้ความเข้าใจของนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ชุมชน โดยมีสิ่งสำคัญ 3 ประเด็นดังนี้
1.ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ยังรู้สึกกังวลใจในการมีส่วนร่วมในชุมชน ในการพัฒนาการบริการภาครัฐ โรงเรียน โรงพยาบาล ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฉะนั้นโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบนี้ จะเป็นโอกาสที่ทำให้ ภาครัฐ ส่วนราชการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และภาคประชาชน มีโอกาสสื่อสารภารกิจงานภาครัฐกันอย่างใกล้ชิด ผ่านกลไกโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบเพื่อเป็นโซ่ข้อกลางสร้างความรู้ความเข้าใจในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ให้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
2.เป็นฐานข้อมูลงานวิจัยในการดำเนินการโครงการต่างๆที่ดีของประเทศชาติ ซึ่งโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบจะก่อให้เกิดฐานข้อมูลเชิงลึก ซึ่งน้องๆบัณฑิตอาสาจะเป็นส่วนสำคัญในการรับใช้สังคมในเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้วางแผนร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ศึกษาแนวทางให้มีช่องทางพิเศษสำหรับบัณฑิตอาสาโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ เมื่อมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสม ให้สามารถบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บัณฑิตอาสาเหล่านี้ เป็นการนำเอาความรู้และประสบการณ์มาปฏิบัติงานในพื้นที่จริงให้ก่อเกิดประโยชน์ในชุมชน
3.โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ เป็นการเปิดโอกาสให้บัณฑิตอาสา เข้ามามีส่วนร่วมกับ ภาคราชการ ภาควิชาการ ภาคประชาชนและภาคเอกชน ซึ่งถือว่าเข้ามามีบทบาทมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ได้สื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะทำให้สังคมตลอดจนผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ มีความเข้าใจภารกิจงานนโยบายของภาครัฐและสามารถขับเคลื่อนงานในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ทางด้าน ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงที่มาของโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบว่า “ภาครัฐมีนโยบายมุ่งเน้นการขยายการลงทุนสู่พื้นที่และชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ดังนั้นจึงได้ผลักดันโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ ร่วมกับ สกพอ. กรมการพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อให้บัณฑิตใหม่ ได้มีโอกาสทำงานในพื้นที่อย่างเต็มความสามารถ เป็นกลไกในการสำรวจผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กระจายความรู้ด้วยวิทยาการที่ทันสมัย ตลอดจนร่วมวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลสู่การพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ที่ดีและยั่งยืน ดังนั้น บัณฑิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จึงถือเป็นบุคลากรต้นแบบของคนทั้งประเทศ ในพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งหากการดำเนินการตามโครงการนี้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี จะนำไปสู่การขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศต่อไป”
จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณยศ คุรุกิจโกศล ผู้รักษาการแทนรองอธิบดีฝ่ายกิจการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “ความท้าทายของโครงการนี้ คือประเด็นของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความเป็นอยู่การใช้ชีวิตของประชาชน โดย ความร่วมมือในวันนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าพื้นที่ EEC จะมีการสร้างกลไก กระบวนการ ที่นำคุณภาพชีวิตที่ดีมาสู่ประชาชน อย่างไรก็ดีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจึงจำเป็นต้องได้รับการดูแล ดังนั้น บัณฑิตของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เข้าร่วมโครงการนี้ จึงมีภารกิจสำคัญในบทบาทของฝ่ายพัฒนา ต้องลงพื้นที่ไปรับฟัง เก็บข้อมูลทุกมิติ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นกลับมาวิเคราะห์ ประมวลผล และบูรณาการสังเคราะห์สู่การพัฒนาสังคม ชุมชน ความร่วมมือของ 3 ฝ่ายในวันนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีอย่างยิ่ง โดยจะเห็นได้จาก กรมการพัฒนาชุมชน ที่มีภารกิจดูแล พัฒนาคุณภาพชีวิตใกล้ชิดพื้นที่โดยตรง ซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC มีความมุ่งมั่นขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการประสานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับทุกฝ่าย ในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันในเชิงวิชาการด้วยการนำเทคนิควิธี องค์ความรู้ วิทยาการปรับประยุกต์สู่การปฏิบัติจริง โดยผ่านบัณฑิตของมหาวิทยาลัยบูรพาเป็นกลไกหลัก เพื่อนำมาซึ่งความผาสุก ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป”
ในการนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ โดยการฝึกอบรมบัณฑิตอาสาที่ผ่านการคัดเลือกของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดทั้ง ๓ จังหวัด ให้มีความพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ และให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ กำกับดูแล และสนับสนุนการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาในการปฏิบัติงานโดยมีพัฒนากรผู้ประสานงานประจำตำบลเป็นพี่เลี้ยง/ที่ปรึกษา สนับสนุนข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชนแก่บัณฑิตอาสา ให้ความร่วมมือกับ สกพอ. และมหาวิทยาลัยบูรพาในการขับเคลื่อนโครงการในภาพรวมตามกรอบความร่วมมือ ที่ได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ อธิบดี พช. กล่าว.-สำนักข่าวไทย