กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – กฟผ.เลื่อนรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่อง 4-7 หลังมีกลุ่มต่อต้าน
ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่าวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 กฟผ.ได้มอบหมายให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( ค.1) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ และได้มีประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันชุมนุมอภิปรายบริเวณด้านหน้าวิทยาลัยในประเด็นความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการ
ดังนั้น นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในฐานะประธานการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ และนายอมรพันธ์ ลีลาภรณ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 กฟผ. จึงร่วมกันเจรจาพูดคุยทำความเข้าใจกับตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทางตัวแทนผู้ชุมนุมได้แจ้งให้ทราบว่าทางกลุ่มมีความกังวลในเรื่องผลกระทบกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตชุมชน ซึ่งทางจังหวัดและ กฟผ.ร่วมกันชี้แจงยืนยันว่าพร้อมรับฟังและเจรจาเพื่อหาทางออกเรื่องดังกล่าวและดูแลสิทธิประโยชน์ของชุมชนให้ดีที่สุด โดยภายหลังจากเจรจาจึงพิจารณาเห็นควรเลื่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ออกไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงได้ประกาศแจ้งให้ประชาชนประมาณ 1,000 คนที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็นทราบว่าขอยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ทุกฝ่ายจึงแยกย้ายเดินทางกลับไปด้วยความสงบเรียบร้อย
ว่าที่ พ.ต.อนุชาต กล่าวว่า ความจริงโครงการนี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่เนื่องจากผลการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้คัดเลือกจากข้อเสนอที่ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดีที่สุด ทำให้โครงการนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ถึงขนาดกำลังผลิต 655 เมกะวัตต์ สูงกว่าโรงไฟฟ้าเดิมตามแผนที่มีขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ จึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นขึ้นใหม่ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเป็นเวทีรับฟังพี่น้องประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นผลดีกับทุกภาคส่วน.-สำนักข่าวไทย