รัฐสภา 25 ก.ค.-ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบพิธีสาร ค.ศ. 1996 อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล เนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 รัฐบาลยืนยันพิธีสารนี้จะเป็นกลไกควบคุมการเกิดมลพิษทางทะเลที่มีเอกภาพและยั่งยืน
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันนี้(25ก.ค.) นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุมพิจารณาพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเล เนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พิธีสารดังกล่าวยกระดับกฎหมายของประเทศให้มีมาตรฐานการป้องกันการทิ้งเทของเสียที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลอย่างเป็นระบบ ควบคุมการก่อมลภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเอกภาพ ขณะเดียวกันส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า ประเทศไทยมีกฎหมายทางทะเลหลายฉบับ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการบูรณาการร่วมกันของภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐขาดความเข้าใจในการแก้ปัญหามลพิษทางทะเล จึงทำให้ปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สมาชิกรัฐสภา อภิปรายว่า เห็นด้วยกับการเข้าเป็นภาคีสมาชิก เนื่องจากปัญหาทางทะเลเป็นปัญหาใหญ่และคาดว่าจะเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต สิ่งสำคัญที่จะเข้าร่วมกับอนุสัญญานี้คือไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาอยู่น่านน้ำ ต้องดำเนินการตามอนุสัญญานี้
“วันนี้สิ่งที่ต้องคิดคือเรื่องกฎหมายภายในที่จะออกมาบังคับใช้หลังเข้าร่วมเป็นเป็นภาคี คือ ต้องครอบคลุม รอบคอบและสอดคล้องกับพิธีสารนี้ เพราะโลกหลังเกิดโควิด-19 จะเปลี่ยนไป สิ่งที่เคลื่อนย้ายมากที่สุดคือนักท่องเที่ยว รวมถึงการเกิดขึ้นของเรือสำราญจำนวนมากที่ใช้สำหรับการท่องเที่ยว ซึ่งต้องยอมรับว่ามีส่วนสร้างปัญหาให้กับประเทศที่เรือสำราญเหล่านั้นเดินทางไปถึง วันนี้ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะแลกความสำราญหรือสภาพแวดล้อมที่ดี หากไทยเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้ง” นายศุภชัย กล่าว
นายซุภชัย กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรให้ปราศจากการนำขยะมาทิ้งทางทะเลและจะเตรียมบุคลากร งบประมาณรวมถึงเครื่องมือหรือเรือที่จะติดตามการกระทำละเมิดต่อกฎหมายภายในประเทศที่กำลังจะตราขึ้นเพื่อรองรับพิธีสารฉบับนี้ได้อย่างไร จึงขอฝากรัฐบาล หากเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว กฎหมายภายในที่จะออกมาต้องเป็นประโยชน์และทั่วถึง การบังคับใช้ต้องก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ต่อท้องทะเลไทย เพื่อให้การท่องเที่ยวของประเทศมีคุณภาพเรื่องการสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการมีสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย
ด้านนายมานพ คีริภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า พิธีสารนี้มีความสำคัญต่อประเทศ แต่ต้องชัดเจนว่าประเทศไทยออกกลไก ออกแบบโครงสร้างที่สามารถปฏิบัติการ ได้จริง มองเห็นผลสำเร็จและยังเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ดังนั้น กระบวนออกแบบหลังจากลงนามแล้ว ต้องมีผลบังคับใช้ในระดับท้องถิ่นอย่างทั่วถึงทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เพื่อให้การกระจายอำนาจปราศจากการถูกยึดโยง เพราะทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถแก้ปัญหาได้ อีกทั้ง อย่าให้เป็นการลงนามนี้เป็นเครื่องมือการทำข้อตกลงในเวทีระดับโลกเท่านั้น ซึ่งต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าการลงนามมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
เมื่อสมาชิกรัฐสภาอภิปราบเสร็จแล้ว นายศักดิ์สยาม กล่าวขอบคุณความเห็นของสมาชิกรัฐสภาและจะนำไปประกอบในชั้นของกฤษฎีกายืนยันว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามและให้ความเคารพต่อความเห็นของสมาชิกรัฐสภา แล้วจะนำกลับมาสู่รัฐสภาอีกครั้ง จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบพิธีสาร ค.ศ. 1996 ของอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น ค.ศ. 1972 ด้วยคะแนนเสียง 599 ไม่เห็นชอบ ไม่มี งดออกเสียง 10 เสียง.-สำนักข่าวไทย