กรุงเทพฯ 21 ก.ค.-สหภาพฯ แรงงาน-การรถไฟฯ แถลงต้านนำเอกชนร่วมทุน PPP เดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ยืนยันบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารเดินรถแอร์พอร์ตลิงค์ มีความพร้อมเข้าทำงาน หลังโครงการเปิดบริการปลายปี 64 ฟันธง! เอกชนบริหารทำค่าโดยสารแพง และขอโอกาสบริหารโครงการก่อน 5 ปี ถ้าเจ๊งพร้อมถอย
นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดแถลงข่าวพร้อมสมาชิกสหภาพฯ และผู้บริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ยืนยันถึงจุดยืนในการคัดค้านแนวทางที่จะนำเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน และขอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เดิม ที่ให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.ผู้บริหารเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เป็นผู้บริหารงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงเนื่องจากมีการอบรมเตรียมความพร้อมของบุคลากรไว้แล้ว
นายสาวิทย์ ยืนยันว่า หากนำเอกชนเข้ามาบริหารเดินรถสายสีแดงอีกหนึ่งเส้นทาง ก็จะเสมือนการกินรวบให้เอกชนชุบมือเปิบเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ในช่วงที่โครงการก่อสร้างเสร็จเตรียมเปิดให้บริการ รวมทั้งที่ผ่านมามีผลศึกษาชัดเจนว่าค่าบริการรถไฟฟ้าของไทยที่มีเอกชนบริหารการเดินรถสูงที่สุดในโลก และมีตัวอย่างให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเจรจาขอให้ผู้ประกอบการลดค่าโดยสาร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชนก็ทำได้ยากมาก
“การเจรจารอบที่แล้วเพื่อลดราคาค่ารถไฟฟ้า มีเพียงรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เท่านั้นที่ลดราคาจาก 45 บาทเหลือ 25 บาท ส่วนเอกชนรายอื่นอิดออดไม่ยอมลดราคาค่าโดยสาร ทำให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบรถไฟฟ้าที่บริหารงานเอง ไม่เช่นนั้นเอกชนก็จะกินรวบ การบริหารเดินรถไฟฟ้าและรถไฟระบบต่าง ๆทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารแพงเหมือนเดิมอีก” นายสาวิทย์ กล่าว
ส่วนคำถามว่าที่ผ่านมาการบริหารงานของการรถไฟฯ ขาดทุนมากทำให้ประชาชนมีความวิตก หากการรถไฟฯ หรือบริษัทลูกของการรถไฟเข้ามาบริหารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะทำให้เกิดปัญหาขาดทุนซ้ำอีกนั้น นายสาวิทย์ กล่าวว่า อยากให้ไปทบทวนว่าการขาดทุนของการรถไฟฯ มาจากภาระการคิดราคาค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุน เพื่อดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงบริการ และเมื่อมีผลขาดทุนสะสมก็ต้องมีการจัดหาเงินกู้มาจ่ายดอกเบี้ย ทำให้เป็นยอดขาดทุนสะสมจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แนวทางของสหภาพฯ เห็นว่าการที่หน่วยงานภาครัฐขาดทุนเพื่อดูแลผลประโยชน์และการเข้าถึงบริการของประชาชนก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เพียงแต่ขอให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ ไม่เป็นต้นเหตุของการขาดทุน
ทั้งนี้ นายสาวิทย์ กล่าวย้ำว่า การบริหารเดินรถสายสีแดงนั้น ภาครัฐควรเปิดโอกาสให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริหารการเดินรถก่อน 5 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าวหากยังเกิดขาดทุนอีก ทั้งสหภาพฯ และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ก็พร้อมถอนตัวออกไป
นอกจากนี้ ประธานสหภาพแรงงานฯ รฟท.ระบุด้วยว่าปัจจุบันได้รับการประสานจากกระทรวงคมนาคมว่า พร้อมจะกลับไปใช้แนวทางตามมติ คนร.เดิม โดยมีการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าวแล้ว ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่ง ดังนั้น หลังจากนี้ทางสหภาพฯ จะมีการประชุมคณะทำงาน เพื่อติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสายสีแดง ส่วนประเด็นเรื่องความล่าช้าของโครงการนั้น จากข้อมูลพบว่างานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงมีความล่าช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยโครงการจะยังสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2564 ไม่มีการเลื่อนเปิดโครงการไปเป็นปี 2566 แต่อย่างใด
ด้านนายชิตพล พรหมดนตรี ประธานสหภาพแรงงานฯ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (สร.รฟฟ. ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ เตรียมความพร้อมฝึกอบรมพนักงาน เพื่อเข้ารับผิดชอบการบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงไว้แล้ว แต่ต้นปีที่ผ่านมาต้องชะลอการฝึกอบรม หลังมีปัญหาโควิด-19 แต่ยืนยันว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการบุคลากรของบริษัทจะมีความพร้อมแน่นอน
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีกระแสข่าวว่าจะมีการดึงเอกชนร่วมทุนเดินรถแบบ PPP ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการที่จะเข้าบริหารโครงการขึ้น และอาจเกิดปัญหาสมองไหลออกจากองค์กรของบริษัทฯ ไปสู่ภาคเอกชนที่ทำธุรกิจเดินรถไฟฟ้าได้.-สำนักข่าวไทย