กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – สหภาพฯ รฟท.เข้าพบรัฐมนตรีช่วยคมนาคม ขอให้เร่งปลดล็อครับพนักงานใหม่ 4,000 -5,000 คน พร้อมแสดงความกังวลการจัดตั้ง “กรมราง” อาจนำไปสู่การแปรรูป
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหาหารือร่วมกันระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสาวิตต์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า ทางสหภาพฯ รฟท.ได้เข้ามาเร่งรัดให้ กระทรวงคมนาคมดำเนินการทบทวนมติ ครม.ที่กำหนดให้รับพนักงานใหม่เพิ่มร้อยละ 5 จากพนักงานที่เกษียณอายุแต่ละปีให้สามารถเพิ่มบุคลากรรถไฟได้ 4,000-5,000 คน จากที่ปัจจุบันขาดแคลนอยู่ 7,000 คน เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟชานเมืองที่กำลังก่อสร้างขณะนี้ นอกจากนี้ ทางสหภาพฯ ยังแสดงความเป็นห่วงการจัดตั้งกรมรางอาจจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคตได้ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูป รฟท.แน่นอน
นอกจากนี้ ยังได้เสนอคัดค้านการตั้งบริษัทลูก คือ จัดตั้งบริษัทการเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนตามแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท. เนื่องจากมองว่าการดำเนินการบริหารจัดการควรอยู่ภายใต้องค์กรเดียวกัน มีลักษณะการบริหารจัดการ โดยให้มีการแยกบัญชีการเดินรถออกเป็นแต่ละภาค เช่น บัญชีการเดินรถภาคใต้ ,การเดินรถภาคเหนือ,การเดินรถภาคอีสาน และการเดินรถภาคกลาง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ ขณะเดียวกันเห็นด้วยให้มีการบริหารจัดการแบบหน่วยธุรกิจ หรือ บียู(business unit)โดยส่วนงานที่ควรแยกออกเป็น บียูคือ หน่วยบริหารทรัพย์สิน เพื่อเข้ามาดูแลและบริหารพื้นที่รถไฟ เพราะที่ผ่านมาพนักงานรถไฟไม่มีความชำนาญในการทำประโยชน์ที่ก่อให้เกิดรายได้
“คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะมีการประชุม ดังนั้น ทางกระทรวงคมนาคมโดยตนจะเข้าร่วมประชุม โดยเนื้อหาสาระที่สำคัญจะเสนอขอปรับปรุงแผนฟื้นฟู รฟท.ใหม่บางส่วน โดยเฉพาะการจัดตั้งบริษัทลูกที่อาจจะเป็นในรูปแบบของหน่วยธุรกิจและการแยกบัญชีบริหารจัดการ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า ทางสหภาพฯ รฟท.ได้มีความกังวลถึงการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ ให้สามารถพัฒนาและรองรับในการผลิตคนเพื่อรถไฟฟ้ามากขึ้น จากเดิมผลิตนักเรียนวิศวกรรมรถไฟให้กับรถไฟดีเซลรางเป็นหลัก เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล นอกจากนี้ สหภาพ สนับสนุนให้เร่งรัดจัดหาขบวนรถไฟฟ้า เพื่อมาให้บริการในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มติ ครม.ได้อนุมัติให้จัดหาเพิ่มอีก 7 ขบวนโดยที่ไม่ต้องรอให้มีการเชื่อม 3 สนามบินตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันมีคนใช้บริการกว่า 70,000คน/วัน ซึ่งเรื่องนี้จะกำชับไปยังบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งก์ เร่งดำเนินการคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลจัดหาเดือนพฤษภาคมนี้.-สำนักข่าวไทย