กทม. 17 ก.ค.-ช่วงนี้มีคนบ่นเรื่องหมูแพงกันเยอะ สาเหตุจากคลายล็อกและเปิดเรียน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เชื่อจะเป็นระยะสั้น แต่ก็เตรียมมาตรการแก้ไข หากราคายังแพงเกิน 2 สัปดาห์
เปรียบเทียบราคาหมูช่วงเดือนมิถุนายน หมูมีชีวิตประมาณกิโลกรัมละ 74 บาท แต่มาถึงกลางเดือนกรกฎาคมราคาขยับขึ้นไปอีกกว่ากิโลกรัมละ 6 บาท ไปอยู่ที่ 80.5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหมูชำแหละจากกิโลกรัมละ 142 บาทเป็น 155-160 บาทต่อกิโลกรัม
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ราคาหมูไทยยังคงถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ ส่วนที่ราคาหมูเพิ่มขึ้นในช่วงนี้เป็นช่วงสั้นๆ หลังจากหลายกิจการเริ่มกลับมาดำเนินการ ประกอบกับโรงเรียนเปิดภาคเรียน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมมาถึง 3 ปี จากภาวะหมูล้นตลาดและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น นอกจากนี้ที่ผ่านมามีความวิตกกังวลเรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ที่ระบาดในหลายประเทศ เกษตรกรทุกคนต่างเข้าเลี้ยงหมูอย่างระมัดระวัง ปี 2562 ไทยที่มีสุกรในระบบประมาณ 20 ล้านตัว ที่สำคัญเกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการเฝ้าระวังและป้องกัน ASF อย่างเข้มงวด ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มถึงตัวละ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ จะร่วมกับสมาชิก จัดกิจกรรมจำหน่ายหมูสดลดค่าครองชีพประชาชนทั่วไทย นำร่องที่จังหวัดชลบุรีก่อนเป็นที่แรก ในวันที่ 21 กรกฎาคม และขายพร้อมกันทุกภูมิภาค วันที่ 7 สิงหาคม
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม รองอธิบดีกรมการค้าภายในกล่าวว่า ราคาหมูเนื้อแดงหลายพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้น น่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะคลายล็อกจากการระบาดของโควิด-19 และเปิดสถานศึกษา แต่ก็สั่งพาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มและเขียงในตลาดสดว่าอยู่ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่ โดยหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท หน้าเขียงประมาณ 150-160 บาท
ทั้งนี้ หากราคาหมูพุ่งต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ ก็จะต้องใช้มาตรการอื่น ๆ ในการเข้าไปควบคุมราคาไม่ให้สูงจนเป็นภาระของประชาชนผู้บริโภค เช่น การจำกัดการส่งออกไปต่างประเทศ การร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ จำกัดราคาหน้าฟาร์ม การจัดงานธงฟ้าเพื่อจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก รวมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้มงวดเรื่องการลักลอบนำเข้าสุกรจากประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะทำได้ยาก แต่ต้องจับตาเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาหมูไทยและไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
อย่างไรก็ตาม ก็เห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยงที่แบกรับภาระราคาหมูตกต่ำมานาน ซึ่งบางช่วงก็ขาดทุน หากการปรับราคาขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาดก็ต้องเข้าใจ เนื่องจากกรมการค้าภายในดูแลทั้ง 2 ฝั่ง คือ ผู้เลี้ยงและผู้บริโภค และหากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ขายให้โทรสายด่วน 1569 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก เพราะราคาจะค่อยๆ ปรับลงเป็นปกติ.-สำนักข่าวไทย