กทม. 10 ก.ค. – การออกปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กู้ภัยมีความเสี่ยงตลอดเวลา จึงต้องฝึกซ้อมแนวปฏิบัติในการเผชิญเหตุอยู่เสมอ โดยเฉพาะการสร้างแนวปลอดภัยในจุดเกิดเหตุ ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ยอมรับว่าแม้จะปฏิบัติตามหลักที่อบรมมา แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
เจ้าหน้าที่กู้ภ้ยมูลนิธิสยามนนทบุรี สาธิตการวางแผนเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์รถยนต์ชนกับรถจักรยานยนต์ โดยเน้นการป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนในจุดเกิดเหตุ
ทันทีที่ถึงจุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลผู้บาดเจ็บจะสำรวจความปลอดภัยของสถานที่และสร้างแนวป้องกันอันตราย โดยจอดรถในแนวเฉียง ห่างจากจุดเกิดเหตุอย่างน้อย 100 เมตร ให้เป็นแนวป้องกันผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ป่วย เปิดไฟฉุกเฉินให้เห็นชัดเจน วางกรวยยางบอกทิศทางที่รถสามารถสัญจรผ่านได้ จัดกำลังอำนวยความสะดวกด้านจราจร โดยต้องยืนอยู่ในแนวเดียวกันกับกรวยยางและรถฉุกเฉิน ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องสวมชุดสะท้อนแสงและมีอุปรกณ์ส่องสว่าง เพื่อให้สัญญาณรถที่วิ่งสวนมา
เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เคยประสบอุบัติเหตุซ้ำซ้อนขณะเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ บอกว่าทุกครั้งที่ออกปฏิบัติหน้าที่ต้องคอยระวังและสังเกตความผิดปกติของรถที่สวนไปมาตลอดเวลา โดยเฉพาะการกู้ภัยในช่วงกลางคืนที่ทัศวิสัยต่ำ แสงสว่างน้อย และเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้รถมักมีอาการง่วงหรือเมาสุรา เป็นปัจจัยเสี่ยงที่แม้จะป้องกันตามหลักที่อบรมมา แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
อีกหนึ่งหลักปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยส่วนใหญ่ใช้เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนขณะเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ คือการปิดช่องจราจรบางส่วน หรือทำให้รถที่ผ่านไปมาชะลอความเร็ว ซึ่งอาจทำให้รถติดบ้าง แต่ก็เป็นวิธีที่ลดความเสี่ยงในเบื้องต้น ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเน้นย้ำและมีการจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงฝึกฝนและอบรมทบทวนหลักการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยให้มีความพร้อมอยู่เสมอ.-สำนักข่าวไทย
