กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – กรณีสาวพนักงานขายสินค้าในห้างฯ ถูกกรมสรรพากรแจ้งความเลี่ยงภาษี 3.2 ล้านบาท เนื่องจากมีชื่อเป็นกรรมการบริษัท บีอีเอ็มซี ซึ่งตอนแรกเธอเข้าใจผิดว่าเป็น 32 ล้านบาท ทั้งที่ไม่รู้จักบริษัทนี้ วันนี้ เธอและทนายความได้ขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือเลื่อนนัดส่งฟ้องศาล ซึ่งมีกำหนด 13 ก.ค.นี้
น.ส.นันทวรรณ คุ้มศิริ สาวห้างฯ ที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกว่า 3.2 ล้านบาท ยื่นขอความเป็นธรรมที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา (มีนบุรี 2) เพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือเลื่อนการขึ้นศาลออกไปก่อน หลังถูกกรมสรรพากรแจ้งความบริษัท บีอีเอ็มซี จำกัด กับ น.ส.นันทวรรณ คุ้มศิริ ในฐานะกรรมการบริษัท บีอีเอ็มซี จำกัด ข้อหาร่วมกันโดยรู้อยู่แล้ว หรือโดยจงใจแจ้งความเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา (มีนบุรี 2) นัดส่งตัวฟ้องศาล 13 กรกฎาคมนี้
ขณะที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่เคยรู้จัก ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว และไม่รู้ว่ามีชื่อเป็นกรรมการบริษัทได้อย่างไร พร้อมเผยว่า เมื่อเดือนเมษายน 2559 ก็เคยได้รับหมายเรียกจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งได้เข้าไปชี้แจงแล้ว ตอนนั้นตำรวจบอกว่า ต้องจ่ายเงินจำนวน 2,000 กว่าบาท แต่จำไม่ได้ว่าเป็นค่าอะไร และเนื่องจากช่วงนั้นไม่มีเงิน เพราะเพิ่งคลอดบุตรคนที่ 4 จึงแจ้งกลับไปว่าจะขอชำระภายหลัง จากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่อีกเลย กระทั่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีหมายเรียกจาก บก.ปอศ. อีกครั้ง จึงเข้าไปพบตามวันเวลาที่นัดหมาย คือ วันที่ 25 พฤษภาคม และได้รับแจ้งว่า บริษัทฯ ค้างจ่ายภาษี จำนวน 3,247,787 บาท ซึ่งสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา (มีนบุรี 2) ได้นัดส่งฟ้องศาลในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ หากอัยการสั่งฟ้อง ตนก็อาจจะต้องติดคุก เพราะไม่มีเงินประกันตัว
ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ตรวจสอบพบว่า บริษัท บีอีเอ็มซี จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด เมื่อปี 2548 มีกรรมการ 1 คน คือ น.ส.นันทวรรณ คุ้มศิริ ประกอบกิจการซื้อขาย นำเข้า ส่งออก ตลอดจนรับติดตั้งอุปกรณ์อนุรักษ์พลังงาน ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท โดยมูลเหตุของการกล่าวหา เนื่องจากบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 รอบระยะบัญชี 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2551 แสดงผลประกอบการขาดทุนสุทธิ ไม่มีภาษีต้องชำระ แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบย้อนหลังกลับพบว่า มีเงินภาษีที่ต้องชำระรวมกว่า 3.2 ล้านบาท
ในเอกสารงบการเงินของบริษัทฯ ฉบับนี้ มีลายมือชื่อ น.ส.นันทวรรณ เป็นผู้ลงนาม พร้อมมีตราประทับของบริษัทฯ และเมื่อนำไปเทียบกับลายมือชื่อที่เจ้าตัวเซ็นในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กลับพบว่าแตกต่างกัน โดยเจ้าตัวยืนยันไม่เคยเซ็นหรือลงชื่อในเอกสารของบริษัทดังกล่าว และทุกครั้งที่ลงชื่อจะเขียนนามสกุลลงไปด้วย
ด้านทนายความ เผยต้องขอเอกสารเพิ่มเติมจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยืนยันว่า น.ส.นันทวรรณ ถูกนำชื่อไปแอบอ้างเปิดบริษัท และมีการปลอมแปลงลายมือชื่อลงนาม เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดตัวจริงมาดำเนินคดี ส่วนผลการยื่นคำร้องให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือเลื่อนนัดส่งฟ้องศาล จะทราบผลในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ค.). – สำนักข่าวไทย