พุทธมณฑล 2ก.ค.-กสศ.จับมือ พศ.ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เติมโอกาสให้สามเณรได้เรียนต่อ นำร่องโรงเรียนพระปริยัติธรรม 41 แห่ง สามเณร1,500 รูป หลังพบปัญหาเรื่องที่พัก อาหาร ค่าใช้จ่าย ขณะที่คาดการณ์หลังโควิด-19 เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา(กสศ.) และนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ร่วมลงนาม(MOU) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ พศ.และกสศ.เพื่อดำเนินงานโครงการทดลอง เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขและพัฒนาคุณภาพครู ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
นพ.สุภสร กล่าวว่า เนื่องจากไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอันดับต้นๆของโลก ทำให้เด็กยากจนได้รับโอกาสทางศึกษาน้อย ซึ่งทั่วประเทศมีกว่า 2 ล้านคน และหลุดออกจากระบบการศึกษา กว่า 500,000 คน หลังโควิด-19 คาดการณ์ว่าเด็กจะหลุดจากระบบถึง 2 เท่า ทั้งนี้ กสศ.สามารถสนับสนุนงบอุดหนุนได้ในจำนวน 700,000 คน ในสังกัดสพฐ.และจะตั้งใจจะดำเนินงานนอกกระทรวงศึกษาธิการ คือก้าวต่อไป โดยปีการศึกษานี้จะเริ่มจัดเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม 41 แห่ง สามเณรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1,500รูป จากทั้งหมด กว่า 400 แห่ง ช่วยปัจจัย พื้นฐาน ค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าที่พัก การเรียนการสอนเสริม ค่ากิจกรรมพัฒนานักเรียน ปีละ3,000 บาท ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในระยะยาว คาดว่าจะจ่ายเงินอุดหนุนประมาณเดือน พ.ค.64
นอกจากนี้ กสศ.ยังสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพกลุ่มครูและโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อีกจำนวน 50 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งในด้านทักษะสัมมาชีพ บนพื้นฐานทรัพยากรท้องถิ่นและวิถีชุมชน ให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้านทักษะอาชีพตามความถนัดของสามเณร หรือให้สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนพระปริยัติธรรม มีจำนวน 408 แห่ง มีนักเรียนกว่า 30,000 รูป ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนที่เข้ามาบวชเรียนจะด้อยโอกาส หากคณะสงฆ์ไม่เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น อาจทำให้เยาวชนส่วนนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่การอุดหนุนงบในการเรียนการสอนค่อนข้างจำกัด และยังขาดแคลนในส่วนของกิจกรรมเรียนเสริม ปัญหาที่พบต่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของสามเณร 6 ด้าน คือปัญหาด้านคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอน,ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูเจ้าหน้าที่,ปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียน,ปัญหาโภชนาการ,สวัสดิการชีวิตและ ปัญหาการเรื่องการส่งต่อนักเรียนให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ การที่ กสศ.เข้ามาช่วยส่วนนี้เป็นอีกก้าวสำคัญ ให้โอกาสสามเณรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียม และเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศและพระพุทธศาสนา หลังลงนามวันนี้ จะมอบหมายให้กองพุทธศาสนศึกษา ลงไปสำรวจนักเรียนที่ยากจนจริง ดูสถานภาพครอบครัว เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน .-สำนักข่าวไทย