วันนี้ 2 กรกฎาคม 2563 ครบรอบ 23 ปี การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ไฟแนนซ์หลายแห่งปิดตัว นักธุรกิจหลายคนล้มละลาย ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก ผ่านมา 23 ปี วิกฤติเศรษฐกิจลูกใหม่กำลังมาโจมตีอีกรอบ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจล็อกดาวน์นานกว่า 4 เดือน จีดีพีของประเทศติดลบหนักสุดกว่า 8% หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง และคาดการณ์กันว่าคนจะตกงานกว่า 8 ล้านคน
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเกิดจากการทำตัวเอง ลงทุนเกินตัว ใช้จ่ายเกินตัว แต่ในขณะนั้นเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ดี ขณะที่วิกฤติโควิด-19 เกิดจากโรคระบาดที่มีผลกระทบทั่วโลก เศรษฐกิจประเทศใหญ่ เศรษฐกิจโลกตกต่ำ วิกฤติครั้งนี้เราไม่สามารถพึ่งพาต่างประเทศได้ เราต้องหันมาพึ่งตัวเอง เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจระดับจุลภาค ถัดไป คือ แนวทางฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจไทย บางเรื่องต้องปรับวิธีคิด เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก ที่เคยพึ่งพาแต่ต่างประเทศ จะกลับมาอาศัยปัจจัยในประเทศให้มากขึ้นอย่างไร และใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ซึ่งเชื่อว่าไทยจะไปรอด เพราะเศรษฐกิจจะมีวัฏจักร เวลาตกต่ำสุด ก็จะกลับมาคลี่คลายและฟื้นตัวได้ สิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับตัว
นายเชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เหตุการณ์ไม่เหมือนกัน แต่ตอนจบได้สร้างปัญหา คือ เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกัน วิกฤติต้มยำกุ้งใช้เวลา 4-5 ปี เศรษฐกิจถึงกลับมาฟื้นเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติ รอบนี้เศรษฐกิจไทยก็เข้าสู่ภาวะถดถอย จีดีพีติดลบ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับมา และระหว่างทางภาคธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ โมเดลธุรกิจยังพอเดินหน้าได้หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกังวล โดยหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น และเศรษฐกิจจะฟื้นได้เร็วกว่าตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง เพราะแม้ไทยจะคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ แต่ต่างชาติก็ยังมีความระบาดรุนแรง
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เราต้องเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติอยู่เสมอ วิกฤติเปลี่ยนรูปแบบเสมอ เราอาจไม่ได้ซ้ำรอยวิกฤติเดิม แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เกิดวิกฤติใหม่ ดังนั้น แม้จะผ่านวิกฤติโควิด-19 ได้ แต่เมื่อมองไปข้างหน้า เราก็อาจเจอวิกฤติใหม่อื่น ๆ ที่แม้เราจะปิดความเสี่ยงแล้วก็ตาม จึงขึ้นอยู่ว่าเราจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน เพื่อให้พร้อมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อไป
นายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตเศรษฐีพันล้านที่ล้มละลายจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 และกลายมาเป็นพ่อค้าขายแซนด์วิชข้างถนน ผู้ก่อตั้งศิริวัฒน์แซนด์วิช กล่าวว่า ผ่านมา 23 ปี ยังต้องเผชิญกับพายุเศรษฐกิจลูกใหม่จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหนักยิ่งกว่าต้มยำกุ้ง และผลกระทบกระจายถึงคนทุกกลุ่มตั้งแต่เจ้าสัวจนถึงแรงงาน ดังนั้น เตือนทุกคนต้องเก็บเงินสดให้ดี และย้ำให้มีสติ ทุกปัญหามีทางออก ผิดหวังได้แต่เราต้องไม่สิ้นหวัง โดยใช้หลักคิด คือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน “อัตตา หิ อัตโน นาโถ” และสิ่งสำคัญต้องมีความซื่อสัตย์ เพราะแซนด์วิชที่มาจากความสงสารจะขายได้เพียงชิ้นเดียว
ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ยังมาอีกหลายระลอก เพราะวิกฤติที่เกิดจากโรคระบาดยังไม่มีทางออก ดังนั้น ไม่ว่าวันนี้ผลกระทบจะมาถึงเราหรือยัง แต่ทุกคนต้องเรียนรู้ และปรับเปลี่ยนให้ทัน .-สำนักข่าวไทย