กทม. 26 มิ.ย. – คดีแกนนำและแนวร่วม นปช. บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี 2550 มาถึงจุดจบในวันนี้แล้ว (26 มิ.ย.) เมื่อศาลฎีกาพิพากษาจำคุกจำเลย 5 คน โดยไม่รอลงอาญา เส้นทางการต่อสู้ในชั้นศาลเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
คดีบุกบ้านพัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่สี่เสาเทเวศร์ คดีนี้ต่อสู้กันมายาวนานกว่า 12 ปี มีการฟ้องจำเลยรวม 7 คน ตั้งแต่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 คือ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นพ.เหวง โตจิราการ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล จำเลยที่ 4-7 ซึ่งเป็นอดีตแกนนำนปช. จำคุกคนละ 4 ปี 4 เดือน และยกฟ้องจำเลย 2 คน
ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุกจำเลยที่ 4-7 เหลือจำคุกคนละ 4 ปี เนื่องจากจำเลยต่อสู้ฐานเป็นผู้สนับสนุนชุมนุมไม่ใช่เป็นแกนนำ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายหลายบท แต่เป็นการกระทำกรรมเดียว ศาลจึงลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือคนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 คงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนเท่าเดิม ไม่รอลงอาญา และยื่นประกันตัวไปคนละ 500,000 บาท ทั้งหมดจึงยื่นฎีกาคดีต่อ
ชั้นศาลฎีกา นายวีระกานต์ นายณัฐวุฒิ นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ไม่ขอต่อสู้คดี ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยังคงให้การปฏิเสธ เพราะต่อสู้คดีว่าเป็นคนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในวันดังกล่าว ไม่ได้ไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ และมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ต่อสู้คดี
เมื่อถึงเวลานัด นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เดินทางมาที่ศาล พร้อมเปิดใจก่อนฟังคำพิพากษา น้อมรับคำพิพากษาของศาลฎีกา และยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยต่อไป แม้ว่าคำพิพากษาจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม
ขณะที่ศาลฎีกาพิเคราะห์จากพฤติกรรมและพยานหลักฐาน ที่ชี้ชัดถึงพฤติกรรมการที่จำเลยทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องร้ายแรง ขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
เนื่องจากเห็นว่าเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ละเมิดสิทธิ์ พล.อ.เปรม โดยจำเลยเป็นหัวหน้าผู้สั่งการกระทำผิด มีลักษณะของการเตรียมแผนล่วงหน้า นำมวลชนจำนวนมากไปประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินราชการ ฝ่าฝืนกฎหมายต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่จนเกิดการปะทะระหว่างชุมนุม เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้ตำรวจจะสั่งให้ยุติการชุมนุมถึง 3 ครั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้อิฐ สิ่งของ ขว้างปาตำรวจ และการที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทยในการควบคุมสถานการณ์ถือว่าเป็นไปด้วยชอบแล้ว
คดีนี้ย้อนไปวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 ช่วงเที่ยง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ภายหลังเปลี่ยนเป็นกลุ่ม นปช. ได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมจากท้องสนามหลวงบุกไปที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม และปักหลักปราศรัยโจมตีด้วยถ้อยคำรุนแรงและหยาบคาย กดดันให้ พล.อ.เปรม ลาออกจากประธานองคมนตรี ขว้างปาอิฐ สิ่งของ และฝ่าจุดสกัดของเจ้าหน้าที่หลายจุด ทำลายแผงเหล็กทิ้งลงคลองผดุงกรุงเกษม ทำร้ายเจ้าหน้าที่แล้วยึดรถขยะกทม.มาขับเอง พุ่งชนรั้วเหล็กตำรวจ
เมื่อบุกถึงหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ก็เปิดเวทีปราศรัยด่าทอ ตั้งแต่บ่ายจน 5 ทุ่ม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจสลายการชุมนุมหวั่นเหตุการณ์ยืดเยื้อ ใช้ความพยายาม 4 ครั้ง กว่าจะยุติการชุมนุมได้ เหตุการณ์ชุมนุมนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บกว่า 200 นาย ฝ่ายผู้ชุมนุมบาดเจ็บเกือบ 30 คน
คดีนี้มีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดถึงพฤติกรรม ทั้งพยานที่เห็นเหตุการณ์ พยานบุคคลกว่า 300 ปาก แฟ้มประกอบสำนวนกว่า 4,500 หน้า ภาพคลิปวิดีโอ 66 แผ่น และการถอดคำปราศรัย
สำหรับคดีบุกล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยังคงมีจำเลยอีก 2 คน นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ และนายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม อีกสำนวนในความผิดฐานเดียวกันจากเหตุการณ์เดียวกัน ศาลได้พักการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากนายจตุพร ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครอง ส.ส. ขอรอฟังคำพิพากษาคดีถึงที่สุดสำนวนแรกมาประกอบการพิจารณา อัยการโจทก์จึงไม่ได้รวมพิจารณาคดีไปพร้อมกันกับสำนวนแรกของ 4 แกนนำในวันนี้. – สำนักข่าวไทย