แพร่ 25 มิ.ย.- สาวแพร่ร้องน้องสาวเป็นหนี้ กยศ.แค่ 17,000 บาท แต่กลับถูกยึดบ้านขายทอดตลาดในราคา 2 ล้านบาท ด้าน กยศ.แจงผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 51 แต่ไม่ชำระหนี้ตามคำสั่งศาล ส่วนทรัพย์สินของผู้กู้ไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว ทั้งนี้ กยศ.ได้ประสานผู้ซื้อทรัพย์เพื่อช่วยเหลือ เบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีขายคืนให้ในราคาซื้อ
เรื่องนี้ น.ส.กรทิพ วงศ์ตะวัน อายุ 43 ปี, น.ส.สมหมาย วงศ์ตะวัน อายุ 38 ปี และนายสมพร วงศ์ตะวัน อายุ 75 ปี อยู่ที่บ้านที่หมู่ 3 ต.สบสาย อ.สูงเม่น จ.แพร่ มาร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากที่อยู่ๆ มีจดหมายจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่มาติดที่หน้าบ้าน ว่าบ้านหลังดังกล่าวถูกขายทอดตลาดไปแล้ว สาเหตุมาจากการเป็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. 17,000 บาท แต่กลับถูกฟ้องบังคับคดียึดบ้านไปขายทอดตลาดในราคากว่า 2 ล้านบาท ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม
น.ส.กรทิพ เล่าว่า น.ส.สมหมาย น้องสาว กู้ กยศ.เพื่อเรียนต่อระดับอาชีวศึกษา หลังจากเรียนจบได้ส่งเงินคืนกองทุน กยศ.มาตลอด ต่อมาย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จึงไม่ได้ส่งต่อ เหลือยอดที่ค้าง กยศ.แค่ประมาณ 17,000 บาท จนกระทั่งอยู่ดีๆ มีหนังสือมาติดหน้าบ้านว่าเป็นทรัพย์สินถูกขายทอดตลาดแล้ว เพื่อใช้หนี้ กยศ. เธอจึงตกใจมาก โดยในการทำสัญญากู้เงิน มี น.ส.สมหมาย เป็นผู้กู้ และมีนางพริ้ง วงศ์ตะวัน ผู้เป็นแม่ เป็นผู้ค้ำประกัน และมีนายสมพร วงศ์ตะวัน ผู้เป็นพ่อ ที่ซึ่งไม่เคยได้เซ็นเอกสารใดๆ อะไรเกี่ยวกับเงินกู้ในครั้งนี้เลย กยศ.กลับเลือกฟ้องนายสมพร เป็นจำเลยที่ 3
ตนเองตั้งขอสังเกตว่า ทั้งที่ น.ส.สมหมาย จำเลยที่ 1 ก็มีบ้านของตัวเอง ส่วนนางพริ้ง จำเลยที่ 2 ก็มีบ้านเป็นของตัว ทำไมไม่ฟ้องเอาที่จำเลย หรือคนค้ำ จำเลยที่ 2 กลับเลือกที่จะฟ้องนายสมพร จำเลยที่ 3 เพราะอาจเป็นบ้านทรงไทยหลังใหญ่อย่างนั้นหรือ เงินค้างแค่ 17,000 บาท เลือกที่จะมาฟ้องขายทอดตลาดบ้านในราคา 2 ล้านบาท มาใช้หนี้ ตนเองจึงคิดว่าไม่เป็นธรรม และน่าสงสัยในกระบวนการขายทอดตลาด
น.ส.กรทิพ กล่าวอีกว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านของตนเองไม่เคยได้รับหนังสือทวงหนี้ หรือหนังสือจากหน่วยงานบังคับคดีอะไรสักอย่างเดียว จู่ๆ ก็มารู้ว่าบ้านถูกนายทุนซื้อไปแล้ว
ล่าสุด วันนี้ทั้งหมดเดินทางไปร้องยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ และยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานอัยการจังหวัดแพร่ ขอให้ช่วยเหลืออีกทาง จากนั้นนางกรทิพย์ พาผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยไปชมบ้านหลังดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองล้วนๆ แต่สร้างมากว่า 10 ปี ยังไม่เสร็จ เพราะต้องเก็บเงินมาซื้อไม้ทีละเล็กน้อย
น.ส.กรทิพ เผยว่า แรกที่สร้างตนไปทำงาน มีสามีเป็นชาวต่างชาติ ได้เงินมาก็มาเริ่มสร้าง และในทะเบียนบ้านเป็นของพ่อ ส่วนพ่อก็ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องกู้เงินแต่อย่างใด สำหรับบ้านหลังดังกล่าวมีคนมาติดต่อขอซื้อในราคาราว 4 ล้านบาท แต่ยังไม่ขายเพราะว่ายังสร้างไม่เสร็จ แต่การยึดเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้เพียง 17,000 บาท มันต้องมีเงื่อนงำ ดังนั้น จึงอยากขอความเป็นธรรม จากผู้เกี่ยวข้องด้วย ว่าแบบนี้สุดท้ายจะจบลงยังไง เพราะมันไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง
มีคำชี้แจงจากนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ระบุว่า จากกรณีที่มีพี่สาวของผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ ร้องเรียนผ่านสื่อว่า ถูกสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ โดยเป็นหนี้ กยศ.เพียงประมาณ 17,000 บาท แต่กลับถูกบังคับคดียึดบ้านในราคา 2 ล้านบาท ไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้นั้น
กองทุนฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2551 และศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินต้นจำนวน 17,868 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดี จากการสืบทรัพย์พบทรัพย์สินของผู้กู้ แต่ไม่สามารถยึดได้ เนื่องจากถูกเจ้าหนี้รายอื่นยึดไว้แล้ว กองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันเมื่อปลายปี 2561 ซึ่งที่ดินดังกล่าวติดจำนองเจ้าหนี้รายอื่นอยู่
ต่อมาในช่วงต้นปี 2562 ผู้กู้ยืมชำระหนี้เพียงบางส่วน และไม่ได้ติดต่อกองทุนฯ เพื่อทำบันทึกข้อตกลงงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันมาติดต่อ ก็สามารถของดการขายทรัพย์ และผ่อนชำระหนี้ได้อีก 6 ปี ต่อมาสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยขายแบบติดจำนอง เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 และมีบุคคลภายนอกซื้อได้ในราคา 30,000 บาท โดยการขายครั้งนี้เป็นการขายครั้งที่ 11 ซึ่งในการขายทุกครั้งที่ผ่านมาไม่มีผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันมาดูแลการขาย
กองทุนขอชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการบังคับคดี กองทุนพยายามที่จะติดต่อกับผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด จนในที่สุดกองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายนี้ กองทุนฯ ได้ประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ค้ำประกันในราคาซื้อ
ทั้งนี้ กองทุนฯ ขอฝากถึงผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่ถูกบังคับคดี ขอให้มาติดต่อที่กองทุนฯ เพื่อจะได้โอกาสในการผ่อนชำระได้อีกไม่เกิน 6 ปี และขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่า จะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย โดยขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องจนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาและญาติๆ และกองทุนฯ ขอให้ผู้กู้ยืมรุ่นพี่ทุกท่าน ตระหนักถึงการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป.-สำนักข่าวไทย