รัฐสภา 23 มิ.ย.-ส.ว.ห่วงเปิดเรียน เสนอกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ขณะเดียวกัน กังวลการใช้เงินกู้ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ แนะเปิดเผยข้อมูล ง่ายต่อการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันนี้ (23 มิ.ย.) พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกวุฒิสภา ปรึกษาหารือถึงความเดือดร้อนของประชาชน มีสมาชิกหารือทั้งปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรไม่เพียงพอ ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร พร้อมเสนอให้ส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้ประชาชน
นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ให้อุปกรณ์การเรียนการสอนอยู่ในสถานะพร้อมใช้งาน อีกทั้งในหลายพื้นขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซม ปรับปรุง วัสดุอุปกรณ์ ขณะเดียวกันเสนอให้ลดกิจกรรมต่าง ๆ การประเมินคุณภาพ การประกวดแข่งขัน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับครูมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม ลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มนักเรียน เรื่องการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการบุคคลากรทางการแพทย์ ควรจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2563 เพื่อการสร้างขวัญกำลังใจกับบุคลากร
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิกวุฒิสภา ขอปรึกษาหารือเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งคณะกรรมการการขนส่งทางราง แต่ยังไม่มีการรองรับการปฏิบัติหน้าที่ได้ และกรมการขนส่งทางรางยังไม่มีอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งให้ความสำคัญและช่วยผลักดันให้กฎหมายนี้เข้าสู่สภาฯ โดยเร็ว รวมทั้ง สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนยังเสนอให้ปฏิรูปนโยบายการผลิตบุคลากรครู เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนและครู อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรครู ใบประกอบวิชาชีพครู เพื่อทำคนให้เป็นครู สร้างคนดี คนเก่ง คนกล้า สร้างโอกาสการพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน จึงขอให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบุคลากรครูได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาขอให้ขยายช่องทางการเดินรถในช่วงเส้นทางจังหวัดปราจีนบุรี จาก 4 ช่องทาง เป็น 8 ช่องทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทาง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับของรัฐบาล เนื่องจาก ฐานข้อมูลเข้าถึงได้ยากมาก ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเกรงว่าการใช้งบประมาณจะไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ดังนั้นหากต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการปกป้องเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ต้องเปิดเผยมากกว่านี้ โดยจัดฐานข้อมูลเป็นแบบหมวดหมู่ ง่ายต่อการตรวจสอบ.-สำนักข่าวไทย