สำนักข่าวไทย 19 มิ.ย.- “พล.อ.ประวิตร” ประธาน กนป. ลงพื้นที่สุราษฎร์ฯ ขับเคลื่อนราคาปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง พร้อมมอบถุงปันสุขช่วยเกษตรกรได้รับผลกระทบจากโควิด-19
เมื่อเวลา 08.00 น. วันนี้ (19 มิ.ย.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามมติ กนป. เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ปฏิบัติงาน ตรวจเยี่ยมเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันแปลงตัวอย่าง ตรวจคุณภาพมาตรฐานโรงงานสกัดและโรงงานไบโอดีเซลในพื้นที่ จ. สุราษฎร์ธานี โดยได้พบปะเยี่ยมเยียนและมอบถุงปันสุข ให้กับชาวสวนปาล์มเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นประธานประชุมมอบนโยบายแก่ผู้แทนหน่วยงานส่วนกลางและในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร กองทัพภาคที่ 4 ทัพเรือภาคที่ 2 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพังงา พร้อมด้วย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองณ. ห้องประชุมธูปเตมีย์ บน.7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ด้านราคาได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ราคาเฉลี่ยกิโลละ 3.22 บาท ถึง 3.09 บาท รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ วงเงิน 1,400 ล้านบาทเศษ แต่เนื่องจากมีปาล์มออกสู่ตลาดมากกว่า 3.5 ล้านตัน จึงมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 10,740 ล้านบาท หากไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 คาดว่า การใช้ไบโอดีเซล บี 10 เป็นไปตามเป้าหมาย เชื่อว่าราคาปาล์มไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลละ 4 บาท และยืนยันว่าได้นั่งเป็นประธาน กนป. มายาวนานกว่า 5 ปีเต็มแล้ว รู้ปัญหาหมดทุกด้าน ได้ออกนโยบายและผลักดันมาตรการด้านการผลิต การตลาด และพลังงานครบวงจรแล้ว รวมทั้งวางแผนให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยยึดหลัก “ปาล์มคุณภาพ ราคาที่เป็นธรรม ผลักดันไบโอดีเซล ลดมลภาวะ” ในปีนี้ เน้นให้เพิ่มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ โดยส่งเสริมไบโอดีเซล บี10 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดันราคาเฉลี่ยทั้งปีไม่ให้ตำ่กว่ากิโลละ 4 บาท เพื่อให้ชาวสวนปาล์มมีเงินจับจ่ายใช้สอยและเหลือเก็บไว้เป็นทุน
พล.อ.ประวิตร เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยึดแนวทางขับเคลื่อนที่ กนป. ได้มีมติเห็นชอบ เป็นหลักในการปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยให้พิจารณาตั้งชุดปฏิบัติงานรับผิดชอบงานแต่ละด้านให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในแต่ละท้องที่ และขอกำชับการปฏิบัติเพิ่มเติมดังนี้ (1) ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าทีม Single Command บูรณาการสั่งการด้วยตนเอง (2) ให้มีการสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรชาวสวนปาล์ม ปลูกฝังการตัดปาล์มที่สุกเต็มที่ (3) กวดขันกำกับให้มีการรับซื้อผลปาล์มที่ได้เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร ทะลายปาล์มน้ำมัน ตามราคาที่เป็นไปตามโครงสร้างราคาที่กรมการค้าภายในจัดทำขึ้น (4) กำกับให้โรงงานสกัดปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม อัตราน้ำมัน 18 เปอร์เซนต์ (5) กวดขันไม่ให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มโดยผิดกฎหมาย ในการนี้ ขอให้ใช้มาตรการขอความร่วมมือจาก พี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมัน ผู้ประกอบการลานเท โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สภาเกษตรกร ผู้รับจ้างตัดปาล์มในการตัดทะลายปาล์มที่สุกเต็มที่ เจ้าหน้าที่หน่วยเกี่ยวข้องทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร เดินทางไปพบปะชาวสวนปาล์มที่คอยต้อนรับ ณ สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โค-อ๊อป) อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมอบถุงปันสุขให้กับตัวแทนเกษตรกร จำนวน 2,000 ถุง โดยมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำไปแจกจ่ายต่อไป และได้เดินทางไปเยี่ยมชมแปลงปาล์มของ นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรตัวอย่าง ในการผลิตปาล์มคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต เนื้อที่ 44 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 6.5 -7.3 ตันต่อไร่ต่อปี ต้นทุนเฉลี่ยกิโลละไม่เกิน 2.00 บาท ต่อจากนั้นได้เยี่ยมชมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ณ บริษัท นิว ไบโอดีเซล อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เป็นการต่อยอดนำน้ำมันปาล์มดิบมาเพิ่มมูลค่า กลั่นเพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริโภคชนิดบรรจุขวดและผลิตเป็นนำ้มันไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์
พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ฯ กล่าวว่า นับเป็นการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และขับเคลื่อนภารกิจของพล.อ.ประวิตร ประธาน กนป. ครั้งที่ 2 ในปี 63 โดยเป็นการมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติ และเป็นการตรวจเยี่ยมกระบวนการปฏิรูปและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แบบครบวงจร เพื่อนำไปผลักดันการแก้ปัญหาในระดับนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาว.-สำนักข่าวไทย