กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – กรมทางหลวงชนบทตรวจเข้มรถบรรทุกน้ำหนักเกินทั่วประเทศ พร้อมกำหนดมาตรการ 3 ระยะแก้ปัญหา ตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่ สร้างสถานีชั่งน้ำหนักในพื้นที่ที่รถบรรทุกมาก ผิดซ้ำซากยึดรถขายทอดตลาด
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางบก บูรณาการร่วมมือกับจังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหารและตำรวจ เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดในการจัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะไม่ให้มีรถบรรทุกน้ำเกินในพื้นที่ของประเทศ เพื่อลดความเสียหายของถนนและลดการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ เพื่อให้การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกบรรลุวัตถุประสงค์
ล่าสุดกรมทางหลวงชนบทกำหนดมาตรการดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น จัดตั้งด่านชั่งน้ำหนักเคลื่อนที่แบบบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมทางหลวง ทหาร ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ปรับเพิ่มแผนการดำเนินงานเน้นการทำงานเชิงรุกในสายทางที่มีความเสี่ยงในการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เข้มงวดให้การควบคุม กำกับน้ำหนักบรรทุกให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเพิ่มปริมาณความถี่ ในการตั้งด่านชั่งน้ำหนัก รวมถึงปรับแผนเน้นเข้าดำเนินการกำกับควบคุมน้ำหนักบรรทุกในสายทางที่มีความเสี่ยงที่จะมีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เช่น สายทางที่มีแหล่งวัสดุก่อสร้าง โรงงานน้ำตาล ผลผลิตทางการเกษตร และสินค้าอื่น ๆ อยู่ในสายทาง เพื่อเป็นการควบคุมน้ำหนักบรรทุกจากต้นทาง
การเคร่งครัดตามนโยบายรัฐบาล โดยควบคุมและไม่อนุญาตให้รถบรรทุกน้ำหนักเกินและไม่อนุญาตให้มีการผ่อนผันเรื่องน้ำหนักรถบรรทุกอ้อย ซึ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเมษายนจะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนควบคุมพื้นที่ชายแดนที่มีความเสี่ยงจะบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น ด่านแม่สอด จังหวัดตาก ด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย และด่านมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ระยะกลาง กำหนดแผนการก่อสร้างสถานีด่านชั่งน้ำหนักยานพาหนะในพื้นที่สายทางที่มีปริมาณรถบรรทุกสูง ถนนสายหลัก โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมจากปัจจัยทางด้านวิศวกรรมและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่กรมทางหลวงชนบทใช้เพื่อกำกับป้องปรามรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน
ส่วนระยะยาว กรมฯ จะประสานกับกระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง เพื่อที่จะเสนอแนวคิดให้มีการแก้ปัญหาควบคุมน้ำหนักบรรทุกให้มีประสิทธิภาพและมีบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น เช่น ผลจากการกระทำความผิด รวมถึงผู้จ้างวาน เจ้าของกิจการ, มีการปรับเป็นอัตราก้าวหน้า เช่น ครั้งที่ 1 ปรับร้อยละ 20 ของมูลค่ารถความผิด ครั้งที่ 2 ปรับร้อยละ 50 ของมูลค่ารถที่ทำความผิด ครั้งที่ 3 ให้ทำการยึดพาหนะเป็นทรัพย์สินของราชการสามารถนำมาขายทอดตลาด เพื่อนำมาชดเชยค่าซ่อมบำรุง, ผู้กระทำความผิดต้องมีส่วนรับผิดชอบในการซ่อมฟื้นคืนสภาพให้แก่ถนน แม้ถนนจะอยู่ระหว่างค้ำประกันสัญญา, สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับยานพาหนะที่ขัดขืนไม่เข้าชั่งให้ถือเป็นกรณีแสดงเจตนากระทำความผิด.-สำนักข่าวไทย