กรุงเทพฯ 9 พ.ย. – ผู้ว่าฯ กทม. สั่งทุกเขตกวดขัน สำรวจไซต์งานไหนมีแนวโน้มรถบรรทุกเกิน กำชับผู้รับเหมาทุกโครงการดูแลโครงสร้างชั่วคราวที่รับผิดชอบให้ดี เผยกำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีมาใช้ตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ติดตั้งบนสะพานให้เป็นหลักฐานเอาผิดได้
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม ให้สัมภาษณ์หลังการแก้ไขปัญหาที่เกิดเหตุบนถนนซอยสุขุมวิท 64/1 เขตพระโขนง กรณีถนนบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินทรุดตัวขณะรถบรรทุกวิ่งผ่าน รวมถึงก่อนหน้านี้เกิดกรณีถนนราชปรารภขาออก บริเวณแยกมักกะสัน-จตุรทิศ เกิดจากฝาบ่อของโครงการก่อสร้างบ่อดันท่อระบายน้ำแตกหักนั้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ทั้งสองกรณีคล้ายคลึงกัน คือมีรถบรรทุกวิ่งผ่าน สาเหตุอาจจะเกิดได้จาก 2 เรื่อง คือ 1.รถบรรทุกน้ำหนักเกิน โดยรถบรรทุก 10 ล้อตามกฎหมายท้องถิ่นที่วิ่งในเมือง น้ำหนักบรรทุกต้องไม่เกิน 25 ตัน ซึ่งคันที่เกิดเหตุจากการคำนวณตามขนาดรถ และดิน จากการคาดการณ์อาจจะน้ำหนักถึง 45 ตัน แต่ก็ยังไม่ได้สรุปว่ารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป และ 2. เรื่องคุณภาพของการก่อสร้างว่าได้มาตรฐานหรือไม่ โดยล่าสุดถนนสุขุมวิท ตรงที่เกิดเหตุก็ได้มีการเปิดการจราจรตามปกติแล้ว แต่ก็ได้มีการเสริมคานเพื่อความปลอดภัย
ยอมรับว่าเมื่อวานนี้ ต้องมีการนำดินออกบ้างเพื่อให้เจ้าหน้าที่ยกรถออกไปทำงานได้ปลอดภัย แต่พยายามนำขึ้นมาเหมือนเดิม กทม.ได้ประสาน กรมทางหลวงนำเครื่องชั่งมาวัดน้ำหนักหาข้อเท็จจริงต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก ต้องเข้มเรื่องความปลอดภัย มีสองส่วน คือ 1.การควบคุมน้ำหนักรถบรรทุก และ 2.มาตรฐานในการก่อสร้าง โดยการก่อสร้างใน กทม.ที่เกี่ยวข้องกับถนน มีทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟ รฟม.และโครงการนำสายไฟลงดินของการไฟฟ้านครหลวง ส่วนของ กทม.ก็มีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ทำ Pipe Jacking เช่น ตรงมักกะสัน สิ่งที่เป็นปัญหาและได้เน้นย้ำไปคือการดูแลส่วนของโครงสร้างชั่วคราว เช่น ฝาปิดบ่อที่ปิดในตอนกลางวัน และตอนกลางคืนเปิดเพื่อทำงานต่อ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบทำโครงการก็ต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนเรื่องน้ำหนักรถบรรทุก เป็นความรับผิดชอบร่วมกันกับตำรวจ และ กทม. ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.ทางหลวง กำหนดให้ถนนท้องถิ่น ท้องถิ่นดูแล เมื่อปี 65 กทม.ได้มีการกำหนดน้ำหนักรถบรรทุก ที่วิ่งผ่านเข้ามาใน กทม. ซึ่งแต่ละที่ก็จะไม่แตกต่างกันมากเป็นไปตามมาตรฐาน แต่ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยไปชั่งน้ำหนักรถบรรทุก เพราะปกติรถบรรทุกที่วิ่งเข้ามาก็จะผ่านด่านชั่งน้ำหนัก ตามจุดต่าง ๆ ของกรมทางหลวง
การดำเนินการต่อไป กทม.คงต้องมีการจัดชุดร่วมกับตำรวจ วันนี้ได้ยืมเครื่องชั่งจากกรมทางหลวงเข้ามา ซึ่งในอนาคต กทม.จะมีเครื่องชั่งเอง ที่ผ่านมา กทม.มีการศึกษาหาวิธีที่จะวัดน้ำหนัก เพราะการตั้งด่านในเมือง ไม่ใช่เรื่องง่าย รถจะติดมาก จากการศึกษาพบว่าอาจจะใช้เทคโนโลยีวัดติดตั้งบนสะพาน เมื่อวิ่งผ่านจะแสดงน้ำหนักได้ ซึ่งจากการทำวิจัยร่วมกันประมาณ 1 ปี ทดลองติดตั้งเทคโนโลยีตรวจจับน้ำหนักไว้ บนสะพาน แต่ไม่สามารถบอกพิกัดได้ เมื่อคืนนี้จึงลองส่งทะเบียนรถบรรทุกคันที่เกิดเหตุ ไปให้อาจารย์ที่ทำวิจัยดู ก็พบว่าก็มีความเป็นไปได้ที่จะบรรทุกเกิน เพราะจากข้อมูลระบุว่า รถทะเบียนนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 66 พบว่าบรรทุกน้ำหนัก 61 ตัน แต่ย้ำว่านี่เป็นเพียงข้อมูลทางวิชาการ ยังไม่ได้สรุปว่า รถคันนี้น้ำหนักเกิน แต่จะชี้ให้เห็นว่านี่คือแนวทางที่ กทม.กำลังศึกษา และทำวิจัยอยู่ ในการหาเทคโนโลยีเอไอมาช่วยตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบเพราะจะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี
ส่วนเรื่องของส่วยสติ๊กเกอร์นั้น กทม.ไม่ได้มีส่วนที่จะไปเกี่ยวข้องได้ เพราะที่ผ่าน กทม.ไม่ได้ดูเรื่องน้ำหนักรถ การจับกุมเป็นของตำรวจเป็นหลัก เทศกิจมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความสะอาด คลุมผ้า มีดินร่วง ดินหล่น สกปรกหรือไม่ แต่หลังจากนี้ก็คงจะต้องมี 3 ฝ่าย คือ กทม., ตำรวจ และทางหลวง ในการกวดขันร่วมกัน
หลังจากนี้ต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะเกิดเหตุคล้ายคลึงติดๆ กัน ซึ่งในแต่ในแต่ละโครงก็ต้องดูแลงานของตัวเอง ไม่ใช่ของ กทม.ทั้งหมด อย่างการไฟฟ้าก็มีอยู่ 879 ฝาบ่อ ผู้รับเหมาของการไฟฟ้าฯ ก็ต้องดูแลรับผิดชอบงานของตัวเอง แต่ได้กำชับแต่ละเขต ออกไปสำรวจไซต์ก่อสร้างว่ามี ตรงไหนเสี่ยง จะบรรทุกเกินหรือไม่ ก็จะทำได้ตามอำนาจที่มี และจะได้ประสานให้เข้มงวด เพราะลำพังเทศกิจ หรือโยธา คงดูทั้งหมดได้ไม่เพียงพอ. -สำนักข่าวไทย