กรุงเทพฯ 19 มิ.ย.-กรมประมงยืนยันคุมเข้มมาตรการป้องกันปนเปื้อนสินค้าสัตว์น้ำทั้งนำเข้า-ส่งออก คนไทยกินได้อย่างสบายใจ ปลอดภัย ไร้โควิด-19 แน่นอน ชี้ไม่มีปัญหาพบเชื้อดังที่จีนตรวจพบบนเขียงแล่แซลมอน
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงการกลับมาระบาดของโควิด-19 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรายงานว่าพบเชื้อบริเวณเขียงแล่ปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศในตลาดซินฟาตี้ กรุงปักกิ่งนั้น ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งกังวลใจและกระทบต่อตลาดอาหารของไทย เนื่องจากติดอันดับต้น ๆ ในการบริโภคแซลมอน กรมประมงขอยืนยันว่าสินค้าสัตว์น้ำของไทยสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ไทยไม่ได้นำเข้าปลาแซลมอนจากจีน เพื่อบริโภคลักษณะปลาดิบ แต่เป็นการนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมตามมาตรฐานสากล
สำหรับอาหารที่ผลิตจากสัตว์น้ำในประเทศไทยก็ปลอดภัยจากโควิด-19 เนื่องจากมีระบบควบคุมตรวจสอบด้านสุขอนามัย ตั้งแต่เรือที่ใช้ในการทำการประมงต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัย ส่วนสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) นอกจากนี้ สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสดมีการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย สถานที่จำหน่ายอาหารต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าสัตว์น้ำสดและอาหารที่แปรรูปเป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี
ส่วนสินค้าประมงส่งออก กรมประมงควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากไทย อีกทั้งจากผู้ประกอบการร่วมมือที่จะเพิ่มการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ทั้งในผลิตภัณฑ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยตรวจคัดกรองอุณหภูมิของร่างกายผู้ปฏิบัติงานและมีมาตรการตรวจพิสูจน์เชื้อโดยหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดนั้น ๆ จัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่าง (Social distancing) ทั้งในสถานประกอบการส่วนการผลิต โรงอาหาร และส่วนบริการทั่วไปในโรงงาน รวมถึงการจัดให้มีแอลกอฮอล์/เจลสำหรับล้างมือ โดยกำหนดเป็นมาตรการที่บุคลากรทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตลอดจนพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบโรงงานเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ
นายมีศักดิ์ กล่าวว่า สัตว์น้ำทั่วไปจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น จากรายงานทางระบาดวิทยายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อโควิด-19 ในสัตว์น้ำ จากที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานการพบเชื้อก่อโรคนี้ในสุนัข แมว และค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น และการระบาดเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ส่วนสัตว์น้ำทั่วไปใช้เหงือกในระบบการหายใจ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำ โดยเลือกรับประทานสัตว์น้ำที่มีความสด สะอาด และปรุงสุกใหม่เสมอเพื่อสุขอนามัยที่ดี.-สำนักข่าวไทย