กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – อธิบดีกรมประมงระบุจำเป็นต้องกันพื้นที่ชายฝั่งอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อให้หอยแครงสามารถเพาะพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ส่วนข้อพิพาทแย่งชิงหอยแครงระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอยนั้น มั่นใจว่าแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมจะสามารถคลี่คลายได้
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับทั้งฝ่ายปกครองและทัพเรือภาคที่ 2 วางแนวทางลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานจะเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการเป็นไปตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 กรมประมงได้เสนอแนวทางการบริหารทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมด้วยการบูรณาการกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วนในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายในการจัดการแปลงหอยที่ผู้ประกอบการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ส่งเสริมชาวประมงพื้นบ้านในการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร หรือองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านการเพาะเลี้ยงเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรร่วมกัน
นายมีศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรมประมงเห็นความจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่บางส่วนเป็นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำ (Sea Base) ห้ามทำการประมงอย่างถาวร โดยประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ ตามมาตรา 56 เพื่อเป็นแหล่งให้หอยแครงได้เพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยคณะกรรมการการประมงประจำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานสามารถพิจารณาประกาศพื้นที่เพาะเลี้ยงและพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำได้ตามความเหมาะสม สำหรับแนวทางคลี่คลายข้อขัดแย้ง คือ การใช้หลักรัฐศาสตร์ควบคู่กับหลักนิติศาสตร์ ผู้ประกอบการจะต้องเพาะเลี้ยงหอยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ไม่รุกล้ำออกมา ส่วนพื้นที่สาธารณะบริเวณชายฝั่งอำเภอเมืองและพุนพินนั้น ชาวประมงพื้นบ้านสามารถไปจับหอยได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องยอมถอยคนละก้าวแล้วเจรจากันเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งอ่าวบ้านดอนได้อย่างเท่าเทียม
ปัจจุบันพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เพาะเลี้ยงหอยแครงในอ่างบ้านดอนมี 6 แปลง เนื้อที่เกือบ 40,000 ไร่ ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไชยา ท่าฉาง กาญจนดิษฐ์ เกาะสมุย และดอนสัก ล่าสุดทัพเรือภาคที่ 2 และผู้ว่าราชการจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง โดยรับฟังความคิดเห็นของทั้งชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการ ตามแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม เมื่อหาข้อสรุปได้แล้วทุกฝ่ายต้องเคารพกติกา จึงจะคลี่คลายข้อขัดแย้งและเกิดความสงบได้.-สำนักข่าวไทย