รัฐสภา 17 มิ.ย.- รัฐบาลขอบคุณกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบ ขณะที่ฝ่ายค้านรุมจวก จับกองอยู่ที่งบกลาง หวั่นซ้ำซ้อนกับเงินกู้ 4 แสนล้าน ชี้ส่อขัด กฎหมาย
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. วาระ2 และ3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ วาระที่ 2 ว่า งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย 88,000 ล้านบาท จำแนกเป็น งบฯของหน่วยรับงบประมาณ 39,000 ล้านบาท งบฯบูรณาการ 13,000 ล้านบาท และ งบฯเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 35,000 ล้านบาท
นายอุตตม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ให้ความสำคัญกับหลักเกณฑ์การโอนงบประมาณที่กำหนดให้รายการที่นำมาโอน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา ฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ จ้างที่ปรึกษา การเดินทางไปราชการต่างประเทศ รวมทั้งค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ การจัดอีเวนท์ รายการปีเดียวที่ยังไม่ประกาศดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใน 7 เมษายน 2563 รายการผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการใหม่ที่ยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายใน 7 เมษายน 2563 รวมทั้ง งบประมาณที่สามารถชะลอการดำเนินการได้โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ หรือไม่สามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งในการพิจารณาของชั้นกรรมาธิการฯ นั้น ไม่มีการแก้ไข พร้อมขอบคุณกรรมาธิการฯที่ให้ความสำคัญร่วมมือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้เต็มที่ ซึ่งตนยินดีชี้แจงข้อซักถามของสมาชิกในแต่ละมาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปราย มาตรา4 มีกรรมาธิการฯ และส.ส.อภิปรายแสดงความเห็นกันมากที่สุด เรื่องการโอนงบประมาณรายจ่าย 8.8 หมื่นล้านบาท ของหน่วยรับงบประมาณต่าง ๆ ไปตั้งไว้เป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่มีความสุ่มเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย และการโอนงบหลายรายการมีการตัดอย่างไม่เหมาะสม
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย สัดส่วนพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การโอนงบ 8.8 หมื่นล้านบาท ไปไว้ในงบกลางนั้น ขัดต่อพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณปี 2561 เพราะงบกลางไม่ได้เป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรงบประมาณ จึงเป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินผิดกฎหมายมาแล้วในคดีหวยบนดิน ดังนั้นคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบในวาระแรกอาจเข้าข่ายทุจริตได้ ถ้ามีผู้ร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงสาธารณสุขถูกตัดงบถึง 1,300 ล้านบาท ทั้งที่ไม่ควรถูกตัด แต่ควรได้รับงบประมาณเพิ่ม ในฐานะที่ต้องต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 งบประมาณที่ถูกตัดไปมีทั้งงบสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล การก่อสร้างอาคารผู้ป่วย ห้องผ่าตัด ที่ถูกตัดออกในทุกภาค โดยอ้างว่าไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในวันที่ 7เม.ย.63 ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ถ้าหน่วยงานใดทำทันถือว่าเป็นเซียนเหยียบเมฆ งบประมาณเหล่านี้ไม่ควรถูกตัด แต่งบที่ควรปรับลดมากที่สุดคือ งบจัดซื้ออาวุธของกองทัพ
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ในฐานะ กรรมาธิการฯผู้สงวนคำแปรญัตติ เห็นว่า หลายประเด็นยังหาข้อตกลงไม่ได้ อาทิ การปรับลดหรือปรับเพิ่มงบประมาณที่กรรมาธิการวิสามัญ ไม่สามารถแก้ไขได้ และบางโครงการของแต่ละหน่วยงานมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการแต่กลับไม่สามารถดำเนินการต่อได้เพราะต้องโอนงบประมาณคืนกลับมาที่งบกลาง รวมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าการโอนงบประมาณกลับมารวบอยู่ที่งบกลางจะซ้ำซ้อนกับเงินกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่จะใช้สำหรับโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตามพระราชกำหนด ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2563 ฉบับวงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือไม่
นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตถึงการโอนงบสัมมนาหรือดูงานต่างประเทศ ของกระทรวงมหาดไทยที่มีงบส่วนนี้หลักพันล้านบาทขณะที่บางหน่วยงานมีงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินการอีกทั้งในระหว่างการประชุมพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน เอกสารบางเรื่องไม่ได้รับการเสนอเข้ามา
นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอให้แก้ไขคำปรารภ โดยที่เป็นการสมควรโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563 จากเดิมที่ระบุว่า ของหน่วยรับงบประมาณบางรายการ แก้ไขเป็นเท่าที่หน่วยงานไม่สามารถใช้ได้ทันของหน่วยรับงบประมาณเนื่องจากส่วนตัวไม่มั่นใจว่าการโอนงบประมาณมาที่งบกลางแล้ว รัฐบาลจะนำเงินมาช่วยเหลือประชาชนได้จริงหรือไม่เนื่องจากแต่ละหน่วยงานก็มีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณในภารกิจขององค์กร ทั้งนี้หน่วยงานที่สามารถใช้งบประมาณได้ทัน ก็ไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปกองไว้ที่ส่วนกลางและให้เฉพาะหน่วยงานที่ไม่สามารถใช้งบประมาณได้ทันให้โอนกลับมาที่ส่วนกลาง
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย สงวนความเห็นและเสนอแปรญัตติเพิ่มคำปรารภ ว่าโดยที่เป็นการสมควรโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณบางรายการที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อให้คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เกิดความรอบคอบในการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
ด้าน นายภราดร ปริศนานันทกุล กรรมาธิการฯจาก พรรคภูมิใจไทย อภิปรายถึงเงื่อนไขโครงการที่ไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันภายในวันที่ 7 เมษายน หรือลงนามไม่ทันวันที่ 3 พฤษภาคม ทั้งที่งบประมาณนี้ล่าช้า เพิ่งได้ใช้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้หลายโครงการที่สำคัญถูกโอนงบประมาณคืน และขอให้ใช้งบประมาณที่โอนเข้างบกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 พร้อมขอแปรญัตติในมาตรา4 วรรคท้าย เติมถ้อยคำที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินต้องคำนึงถึงการนำไปใช้เพื่อผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาตรงจุด เพราะการระบุว่าใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถนำไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ได้ อาจไม่ตรงเจตนารมณ์ที่หน่วยราชการโอนงบมาช่วยแก้วิกฤตโควิด-19
ด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯอภิปรายว่า ในช่วงการพิจารณางบของกระทรวงกลาโหม ได้มีเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่อย่างมาก โดยมีนายทหาร เดินเก็บเอกสารที่ระบุว่า ลับ คืนไปทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่เพิ่งแจกได้ไม่นาน ซึ่งตนคิดว่า เอกสารที่ได้เรียกขอดังกล่าว ไม่ควรอยู่ในชั้นความลับอีกต่อไป เพราะเป็นงบที่ถูกปรับแล้ว ถือเป็นการปิดกั้นการทำงานของกรรมาธิการ และส.ส.อย่างมาก เพราะการขอดูข้อมูลต่าง ๆ ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่กระทรวงกลาโหม ซึ่งอยู่ภายในการบังคับบัญชาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับเป็นหน่วยงานเดียวที่ลึกลับ ไม่สามารถเรียกดูหรือแตะต้องได้เลย เปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานที่เป็นหลุมดำ จึงไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมา มีการขึ้นเวทีประกาศว่า กองทัพเป็นหน่วยงานที่โปร่งใส่ที่สุดได้อย่างไร เพราะความโปร่งใส่ต้องเปิดเผยข้อมูล เหตุการณ์นี้สะท้อนว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ ให้ยึดโยงกับตัวแทนที่มาจากประชาชน ทำงานโดยยึดหลักกฎหมายและข้อบังคับด้วยความสุจริตโปร่งใส และพร้อมที่จะถูกตรวจสอบด้วย
นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีนโยบายน้อยมากที่ใช้งบประมาณส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นเพียงงบประมาณไฟไหม้ฟาง เช่น การแจกเงินท่องเที่ยว ขณะเดียวกันงบประมาณบางส่วนที่จำเป็นต่อการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน กลับต้องโดนตัดโอนงบประมาณกลับคืนมา ทั้งที่งบประมาณที่พัฒนาการท่องเที่ยวจากระดับล่างขึ้นมามีน้อยมาก แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจผิด การพัฒนาการท่องเที่ยวต้องพัฒนาจากล่างขึ้นบน ไม่ใช่บนลงล่าง ในทางตรงกันข้ามงบประมาณเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาชุมชนไม่ได้โอนกลับมา ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมบางหน่วยงานตัดงบระดับชุมชน แต่บางหน่วยงานไม่ตัด สะท้อนให้เห็นถึงการสั่งการของรัฐบาลบกพร่อง และหน่วยงานราชการทำงานตามรัฐบาลแต่ไม่เข้าใจประชาชน การโอนงบประมาณบางอย่างกลับมาไม่ส่งผลเสียต่อราชการ แต่กลับส่งผลเสียต่อประชาชน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมาธิการ อภิปรายว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่เหมาะสม เพราะทำให้ประชาชนและหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณไปแล้วถูกตัดมา ทั้งที่จุดประสงค์ในการโอนงบประมาณเหล่านี้ต้องการใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิ-19 เมื่อเทียบกับงบประมาณที่กู้เงินมาก็เพียงพอแล้ว และเงินโอนนี้ก็เพียงร้อยละ 5 ไม่ควรโอนเงินกลับมา เพราะตอนนี้เหมือนการสร้างหนี้สินให้กับประเทศ อีกทั้ง ในกฎหมายยังไม่อนุญาตให้กรรมาธิการปรับลดหรือเพิ่มงบประมาณ ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเหมือนตรายาง ทั้งที่หน่วยงานสามารถใช้งบประมาณของตัวเองใช้ในกรณีฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชน ไม่จำเป็นต้องโอนมาเก็บไว้ที่งบกลาง ขณะเดียวกันเห็นว่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียน กว่าจะได้งบประมาณมาเป็นเรื่องยาก และจำเป็นต่อการศึกษาของนักเรียน อีกทั้งยังไม่สามารถคืนในงบประมาณ 2564 ได้เพราะจัดทำไปแล้ว แต่ต้องไปคืนที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ตรงกันข้ามกระทรวงกลาโหม บอกว่าโอนงบประมาณกลับมาเยอะ แต่เอกสารของกระทรวงที่กรรมาธิการกำลังพิจารณากลับถูกทหารมาเก็บกลับคืนไปทั้งที่ยังพิจารณาไม่จบ จึงถามว่าใช้อำนาจหน้าที่ใดในการละเมิดการทำงานของกรรมาธิการ.-สำนักข่าวไทย