ศาลฎีกา 15 มิ.ย.-ประธานศาลฎีกา ชี้ความขัดเเย้งดุลพินิจสรรหาองค์กรอิสระ เป็นปัญหาเรื่องการออกเเบบ รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ถ้าทำตามขั้นตอนอำนาจหน้าที่เเล้วก็จบ
นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำเเหน่งในองค์กรอิสระ ว่า คณะกรรมการสรรหาในแต่ละชุดต่างทำหน้าที่ของตัวเอง ดังนั้นประเด็น คือ ต้องดูว่าคณะกรรมการสรรหาเหล่านั้นดำเนินการตามขั้นตอน หรือตามข้อกฎหมายหรือไม่ ถ้าดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว คิดว่าคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดก็จบ เพราะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตัวเองแล้ว ส่วนเรื่องการเปิดช่องไว้ให้มีการขัดแย้งกันได้ เป็นปัญหาในเรื่องการออกแบบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ ถ้ารอบคอบตั้งแต่แรก ต้องปิดช่องไม่ให้เกิดความขัดแย้งเช่นนี้
นายไสลเกษ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการสรรหาทุกชุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดที่ตนเป็นประธานกรรมการสรรหา ยืนยันว่าทุกคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองโดยสุจริต และมีความเห็นของตัวเอง ทุกคนมีความเห็นต่างได้ มุมมองการตีความแตกต่างได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดความขัดแย้งกัน
“ถ้าตั้งแต่แรกมีการออกแบบไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน ปัญหาก็ไม่เกิด แต่ตอนนี้ถ้าตีความไม่เหมือนกัน จะไปที่ไหน ถ้ามีการออกแบบรองรับไว้ ก็แก้ไขปัญหาได้ แต่ว่าผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าต้องไปที่ไหน ลองพลิก ๆ กฎหมายดูก็ไม่เห็นว่าต้องไปที่ไหนชัดเจน” นายไสลเกษ กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีปัญหาการตีความเช่นนี้ สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้หรือไม่ นายไสลเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ
เมื่อถามว่า ต่อไปในอนาคตจะมีบรรทัดฐานในประเด็นเหล่านี้อย่างไร นายไสลเกษ กล่าวว่า ถ้าคิดว่าไม่ได้แตะต้องในขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีใครสามารถชี้ขาดเรื่องนี้ได้ ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเช่นนี้เป็นระยะ ๆ เพราะในเมื่อให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดเป็นอิสระ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกกับเหตุการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ ที่สำคัญคือหากคณะกรรมการสรรหาแต่ละชุดดำเนินการโดยสุจริต ทำตามหน้าที่ กระบวนการลุล่วงไป ส่วนใครต้องการแสวงหาข้อยุติ ให้ไปดูว่าช่องไหนหาข้อยุติได้ ถ้ามีข้อยุติก็ผ่าน แต่บังคับใครได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ เพราะกฎหมายเปิดให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการได้อย่างอิสระ.-สำนักข่าวไทย