กรุงเทพฯ 10 มิ.ย. – รมช.เกษตรฯ ขอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศร่วมแสดงความเห็นใน (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำเข้าผลิตผลทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นอาหาร ผู้นำเข้า/ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ร่วมกันแสดงความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ….. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) ว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มรายชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราคอวตและคลอร์ไพรอฟอสแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยเพราะเหตุใด รวมทั้งการยกเลิกปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของ 2 สารนี้นั่นคือ การให้ค่าตกค้างของสารพิษดังกล่าวในอาหารเป็นศูนย์ (Zero Terroance)
ทั้งนี้ ในการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทยนั้น ทางภาคอุตสาหกรรมซึ่งต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศกังวลว่าจะมีปัญหาต่อการสั่งวัตถุดิบ เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกหลายประเทศยังใช้สาร 2 ชนิดนี้ ดังนั้น ในแบบแสดงความคิดเห็นจึงสอบถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องผ่อนผันการปฏิบัติ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดทำแนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะต้องตรวจไม่พบการตกค้างในอาหาร
บทเฉพาะกาลการกำหนดระยะเวลาผ่อนผันก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ โดยกำหนดให้อาหารที่ผลิตในประเทศและอาหารนำเข้าที่ส่งออกจากประเทศต้นทางก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ลงวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และต้องปฏิบัติตามประกาศนี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ ใช้บังคับ
“ขอให้ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค โดยส่งแบบฟอร์มสำหรับรับฟังการแสดงความคิดเห็นได้ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งจะได้จัดทำให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป” นางสาวมนัญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย