มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 5 มิ.ย.-ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลเผยผลสุ่มตรวจ “ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ” ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธานอลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมแถลงข่าว ผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง โดยศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 กลุ่มตัวอย่าง คือผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าวได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย
ผลทดสอบพบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง ที่ใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต เป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง
ทั้งนี้จะพยายามให้ความเป็นธรรมกับผู้ผลิต ที่ผลิตก่อน10 มีนาคม ตามกฏหมายเครื่องสำอางค์มีผลบังคับใช้ได้ปรับมาตรฐานสินค้า การออกมาเปิดเผยครั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ต้องดูยี่ห้อที่มีเปอร์เซ็น70 ขึ้นไป
ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลทดสอบดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100% ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่ายังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน จากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกันหรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอล์ 75% แต่วิเคราะห์ผลได้เพียง 70% ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯแต่ก็ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต ประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอนคือผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน
ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ (เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย) เพื่อสุขอนามัยสำหรับ ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย
แต่เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ได้มีมติยกเลิกประกาศดังกล่าว เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” รายละเอียดต่างๆจึงอยากกระทรวงสาธารณสุขทบทวนประกาศใหม่
พร้อมแนะนำว่า เจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต พร้อมแนะให้ดู เลขที่จดแจ้ง หรือเลขอย. สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ หากมีไม่ครบ ข้ออย่าซื้อมาขาย
ทั้งนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง
และดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402 .-สำนักข่าวไทย