กทม.4มิย.-เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เรียกร้อง ให้รัฐเยียวยาประชาชน ถ้วนหน้า เพราะทุกกลุ่มอาชีพได้รับผลกระทบทั้งหมด ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ระบุ จากผลสำรวจ พบครัวเรือบเกือบครึ่งมีเงินใช้ไม่ถึง3 เดือน หากไม่มีงานทำ
นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN) นายเดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย และนางสาวเนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม4 ภาค ร่วมแถลงข่าว เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐ จัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แบบถ้วนหน้า หลังจัดทำการสำรวจพบว่า ประชาชนทุกระดับ “ทุกข์ถ้วนทั่ว ต้องอุดรอยรั่ว ด้วยสวัสดิการถ้วนหน้า” ที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
นายเดชรัต กล่าวว่า ได้จัดทำผลสำรวจแนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคม เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,998 คน ในทุกภูมิภาค ผ่านการตอบแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่าง14-24พ.ค. 63 โดยสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือน ก่อนเกิดโควิด-19และหลังโควิด-19 พบว่าก่อนเกิดโควิด-19 ครัวเรือนร้อยละ72 มีรายได้ประจำ และรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่าย แต่เมื่อเกิดโควิด-19 พบว่า ร้อยละ90 ได้รับผลกระทบ รายได้ครัวเรือนลดลงเกินกว่าครึ่ง ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 50,000 บาท สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง3 เดือนหากขาดรายได้ ขณะที่คนไม่ได้รับผลกระทบมีเพียง 10% คน และกลุ่มที่มีรายได้เพิ่ม เนื่องจากเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสมีไม่ถึง1%
ทั้งนี้พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากตกงานและรายจ่ายสวนทางกลับรายได้ที่ยังคงเดิม30% และ50% รายจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนที่เพิ่ม คือ ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ จากผลสำรวจพบว่า ทุกระดับรายได้ได้รับผลกระทบทั้งหมด และครัวเรือนส่วนใหญ่พยายามช่วยเหลือตัวเองด้วยการหารายได้เสริม ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล และตอนนี้พบว่าเริ่มขาย จำนำทรัพย์สิน กู้เงินนอกระบบ กู้ยืมเงินจากญาติพี่น้อง และพบว่ากลุ่มที่กระทบมากที่สุดยังเข้าไม่ถึงสวัสดิการการช่วยเหลือและตกหล่นถึงร้อยละ50 และการเข้าเงินกู้สถาบันการเงินที่ดิกเบี้ยต่ำยังน้อยมากเนื่องจากไม่มีหลักประกัน นับว่ากระทบถ้วนทั่ว และรุนแรงทุกระดับรายได้ ส่วนคนที่ไม่ได้รับผลกระทบแต่ได้รับความช่วยเหลือ10% อยากให้เปลี่ยนวิธีคิด ต้องช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกคน การใช้ระบบคัดกรองหรือคัดคนที่เดือดร้อนเพื่อเยียวยา ทำให้กลุ่มที่เดือดร้อนจริงตกหล่นเกินกว่าครึ่ง มองโจทย์ไหนสำคัญกว่ากัน ตอนนี้เกิดความทุกข์ถ้วนทั่ว เดือดร้อนทุกครัวเรือน ควรได้รับรัฐสวัสดิการทุกครัวเรือน
ด้าน นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบทั้งประเทศ 25 ล้านคน ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด และได้รับการเยียวยาเพียง 3 ล้านคน ที่เหลือเข้าไม่ถึงสิทธิ์ แรงงานนอกระบบ มีทั้งรายวัน รายเดือน ตกงาน ว่างงานชั่วคราว เช่น แม่บ้านสนามบิน ค้าขาย เมื่อต้องอยู่บ้าน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่แฟลต การเคหะ ต้องมาอยู่รวมกันห้องเล็กๆยิ่งเป็นการเพิ่มภาระ และจะให้เว้นระยะห่างคงทำได้ยาก บางบ้านมีลูกเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง ถือว่าเป็นผลกระทบวงกว้างของประชาชน ไม่มีเงินในการซื้อของกินของใช้ แม้รัฐมีมาตรการเยียวยา5,000 บาท ยิ่งสร้างความทุกข์ เพราะลงทะเบียนไม่เป็น ความรู้ไม่มี ยิ่งสร้างความยุ่งยากให้ประชาชน เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ ตกหลุ่น มองว่าจะมีมาตรการคัดกรองทำไม ทำไมไม่ให้ถ้วนหน้าไปเลย
ด้านนางสาวเนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม4 ภาค กล่าวว่า คนจนเมืองมีหลากหลายกลุ่มอาชีพ ส่วนใหญ่ตกงาน ให้ออกจากงาน ช่วงแรกแต่ละชุมชนพอมีกองทุนที่เป็นของชุมชนจะช่วยกันเองก่อนได้ จะเห็นว่าชาวบ้านประสบปัญหาค่อนข้างมาก เริ่มเปิดรับบริจาคกระจายความช่วยเหลือสู่ชุมชน แค่การกินอยู่ ไม่สามาถต่อยอดสร้างอาชีพได้ ส่งผลให้คนตกงานบางส่วน กลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะไม่มีค่าเช่าห้อง ส่งผลให้อัตราคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น คนที่พอจะมีเงินเก่าที่เคยเก็บสะสมก็นำมาใช้หมดแล้ว พอมาตรการผ่อนปรนออกมา ก็ไม่มีเงินทุนไปขายของ ยอมรับว่ามาตรการเยียวยาต่างๆ กลุ่มคนที่อบู่ในเครือข่ายสลัม4 ภาค ไม่สามารถเข้าถึงได้เลย อยากเรียกร้องคำว่า ถ้วนหน้า ช่วยเหลือถ้วนหน้า จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ (WWN) กล่าวว่า อยากเรียกร้องไปยังภาครัฐ 2 ข้อ ที่จะทำให้ระบบสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 1.การเยียวยา ต้องใช้ว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า 2.เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ช่วยเร่งพิจารณารับรองร่างพรบ.บำนาญแห่งชาติ คนที่มีอายุตั้งแต่60 ปีขึ้นไป ให้มีหลักประกันด้านรายได้ทุกเดือน เดือนละ3,000 บาท ตามเส้นความยากจน ที่สำรวจว่า หากมีเงินส่วนนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับประชาชนได้ ราว10 ล้านคนท ซึ่งภาคประชาชนร่วมกันเสนอ ส่งไปแล้วตั้งแต่มีนาคม ให้เร่งรับรองและมีผลบังคับใช้ เพื่อทำให้อุดรอยรั่วที่เกิดความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานาน สร้างความมั่นคงทางรายได้ มองว่าโควิด-19 เพียงทำให้ฝีหนองแตก เพราะความเดือดร้อนเกิดมานานแล้ว.-สำนักข่าวไทย