รัฐสภา 4 มิ.ย.-“ปิยบุตร” ลั่นไม่เคยไปดำเนินคดีกับใคร เพราะเชื่อระบอบประชาธิปไตยต้องถูกตรวจสอบ หลัง “ปารีณา” แจ้งความใส่ร้าย ป.ป.ช.ในคดีนาฬิกา “พล.อ.ประวิตร” ระบุตั้งแต่เป็นนักการเมือง โดนคดีความมาโดยตลอด ชี้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ แจ้งความตน ฐานใส่ร้ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในคดีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ตนไม่คิดว่าตั้งแต่ทำอาชีพนักการเมือง ก็โดนคดีความมาโดยตลอด มองว่ากฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคล ไม่ได้ใช้เพื่อกลั่นแกล้ง หรือนำมาใช้ปิดปากผู้อื่น และการเป็นบุคคลสาธารณะ หรือ ข้าราชการ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว แต่หากไม่อยากให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็ไม่สมควรมาอยู่ในระบอบประชาธิปไตย
นายปิยบุตร ยังตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่เกิดรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน มีการปิดกั้นการแสดงออก แต่มีคดีเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาท จึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปิดปากไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และตนก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่ไม่เคยไปดำเนินคดีกับใคร เพราะเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องถูกตรวจสอบและถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ
นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากพ้นจากตำแหน่ง สนช. ไม่ถึง10 ปี ว่า เรื่องนี้มีการถกเถียงกันอยู่ และมองว่าเกิดจากความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญ ที่พยายามจะบอกว่ารักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ เป็นระบบที่ตนขอเรียกว่า ผลัดกันเกาหลัง เพราะจะเห็นว่าจะวนกันอยู่แต่คนเดิม ๆ ซึ่งปัญหาหลักของเรื่องนี้ คือ ไม่รู้ว่าจะให้องค์กรไหนวินิจฉัย ท้ายที่สุดอาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ส่วนจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการกฎหมายหรือไม่นั้น จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (5 มิ.ย.) เราจะเปิดแคมเปญ “ส.ว.มีไว้ทำไม” อย่างเป็นทางการ และวันที่ 6 มิถุนายน จะมีการจัดสัมมนาออนไลน์ ทั้งนี้จะมีผู้ร่วมสัมมนา เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตวุฒิสภาและอดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมงานเสวนา เพื่อให้สังคมพิจารณาว่า ส.ว.ทำหน้าที่มา 1 ปีแล้วเพื่อประกันการสืบทอดอำนาจ ซึ่งสังคมจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้และจำเป็นอยู่หรือไม่ที่จะมี ส.ว. อยู่.-สำนักข่าวไทย