กรุงเทพฯ 2 มิ.ย. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดจีพีดีปีนี้ติดลบ 6% คาดใช้เวลา 2-3 ปีเศรษฐกิจไทยกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมติดตามการแพร่ระบาดรอบ 2 และสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการณ์จีดีพีปี 2563 จากเดิมติดลบ 5% เป็นติดลบ 6% จากการบริโภคภาคครัวเรือนที่จะติดลบมากขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะติดลบและชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศภาพรวมยังเหลือสูงถึง 55% ขณะที่การส่งออกทั้งปีคาดจะติดลบมากขึ้นจากเดิมคาดติดลบ 5% เป็นติดลบ 6.1% ทั้งนี้ มองว่าจีดีพีไทยไตรมาส 2 จะติดลบหนักสุดเป็นตัวเลข 2 หลัก และจะดีขึ้นหรือติดลบน้อยลงไตรมาส 3 และ 4 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี กว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนค่าเงินบาทปีนี้คาดจะอยู่ในกรอบ 31.5 – 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ไทยจะคลายล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจยังไม่สามารถดำเนินการได้ปกติจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งอาจทำให้มีการลดจำนวนพนักงานลงอีก และอาจมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านคนต่อเดือน ดังนั้น หลังหมดมาตรการเยียวยา 3 เดือน ยังต้องติดตามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล ซึ่งจากผลสำรวจส่วนใหญ่พบว่าต้องการมีงานทำมากกว่าการรับเงินเยียวยา นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนของการระบาดรอบ 2 ในไทย หากเกิดขึ้นจะมีการล็อกดาวน์อีกรอบหรือไม่ รวมทั้งยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังมีปัญหาการเมืองทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ตลาดเงินและตลาดทุนด้วย
ทั้งนี้ มองว่านโยบายการเงินและการคลังของไทยยังมีพื้นที่เหลือให้ใช้ในกรณีจำเป็นอีก โดยหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลในระยะสั้น หรือช่วง 2-3 ปีนี้ ขณะที่นโยบายการเงินมองว่ายังสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 0.5% และมองว่าจากบริบทภาพรวมของไทยขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ แต่ไทยจะมีดอกเบี้ยระดับต่ำเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี.-สำนักข่าวไทย