รัฐสภา 31 พ.ค. – “สมคิด” รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงความจำเป็นออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ ป้องกันเศรษฐกิจไทยพัง เตรียมมาตรการช่วยเหลือ SME ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเงินกู้ธนาคาร ย้ำงบ 400,000 ล้านบาท ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภายใน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 ว่า มีบางจุดที่ต้องสร้างความเข้าใจกันให้ถูกต้อง เพราะว่ารัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรยังต้องร่วมมือกันอีกยาว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คงยังไม่จบง่ายๆ เป็นภาระที่ประชาชนจะต้องประสบกับความเดือดร้อน การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีโอกาสอภิปรายแสดงความเห็นให้กับรัฐบาลถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าการกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะรับเอาสิ่งเหล่านี้ไปพิจารณาปรับปรุงทุกอย่างให้ดีขึ้น ทราบว่าสมาชิกทุกคนก็เป็นห่วง
นายสมคิด กล่าวว่า เท่าที่ฟังมาทั้งหมด ไม่ได้เห็นเลยว่าทุกคนไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ แต่ก็ถือโอกาสนี้ชี้แจงว่าการออกพระราชกำหนดชุดนี้ เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนจริงๆ ตอนที่โควิด-19 เริ่มระบาด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 2 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อ ในขณะนั้น นายกรัฐมนตรี หารือกับทุกคนที่เกี่ยวข้องว่า ถ้าไม่รีบยุติภายในไม่กี่วัน จะมีผู้ติดเชื้อเป็นหมื่นคน และเมื่อถึงจุดนั้นจะเบรคกันไม่อยู่ ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ รัฐบาลทราบดีว่าถึงจุดที่ต้องตัดสินใจ หากจะคุมไวรัสให้อยู่ ซึ่งตามหลักการแพทย์ ทุกคนต้องเว้นระยะ อยู่กับบ้าน ซึ่งจะไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โรงงานจะต้องปิด ทุกอย่างต้องหยุดหมด รัฐบาลรู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่นายกรัฐมนตรีก็เข้าใจว่า ปัญหาระยะสั้นต้องเอาให้อยู่ แล้วค่อยๆ คลายออกมา เพื่อให้เกิดดุลยภาพ
นายสมคิด กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาในระยะสั้น หารือกันว่าจะหามาด้วยวิธีอะไร โดยงบประมาณที่มีอยู่ต้องเอามาใช้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงขอให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณดูแลเรื่องนี้ และเมื่อไม่พอก็ต้องให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะเตรียมการกู้ยืม ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวไว้แล้วว่ามีหลายช่วง เช่น การเยียวยาอย่างน้อยต้องมีเวลา 3 เดือน เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้นได้รับการเยียวยา และผู้ที่มีฐานะที่ดีก็ควรจะเกื้อกูลให้กับคนอื่นที่มีฐานะลำบาก แต่ก็ให้หลักการว่าถ้าใครเดือดร้อนก็จะช่วยเต็มที่ แน่นอนว่าประเทศไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ไม่มี Big Data แต่โชคดีที่มีระบบพร้อมเพย์เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่มี 4.0 หรือไม่มีพร้อมเพย์ ภายใน 2 เดือนเงินไม่มีทางถึวชาวบ้านได้เร็วขนาดนี้ นี่คือการเตรียม และเห็นว่าการจ่ายเงิน 5,000 บาท น่าจะทำให้ประชาชนอยู่ได้ช่วงสั้นๆ
นายสมคิด กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีอาการจากตลาดตราสาร คนเริ่มไถ่ถอนกองทุน จนมีบางกองทุนเริ่มปิดลง ซึ่งตนผ่านช่วงภาวะต้มยำกุ้งมาแล้ว เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ผลิตไม่ได้ เดินต่อไม่ได้ จะพากันกระทบไปถึงตลาดเงินและตลาดทุนทันที เพราะกิจการส่วนใหญ่ยึดตามตลาดหลักทรัพย์ที่มีความจำเป็น สุดท้ายไปพันกันที่ธนาคาร
“สมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ต้องตามไปเก็บศพ เอาทรัพย์สินที่เสียออกไปจากธนาคารให้ทุกอย่างมันเดินได้ แต่ครั้งนี้จะไม่รอถึงขนาดนั้นซึ่งหลักการของมาตรการที่ออกมาทั้งหมด เป็นเชิงรุก ทำก่อนป้องกันก่อน ไม่ให้เกิดขึ้น จึงตั้งกองทุนดูแลตราสารหนี้มูลค่ามหาศาล และอย่าไปคิดว่าเป็นการอุ้มเจ้าสัว เพราะหากมีการถอนกองทุนแล้วหาใหม่ไม่ได้ก็จะล้มทันที และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะล้มด้วย ระบบการเงินทั้งหมดและธนาคารก็จะมีปัญหา นี่คือเหตุผลที่ออกมาตรการ “นายสมคิด กล่าว
นายสมคิด กล่าวยังกล่าวถึง ปล่อยกู้ SME ที่หลายคนเป็นห่วงว่าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ เพราะไม่เคยอยู่ในระบบธนาคารหรือไม่มีสินทรัพย์ที่จะค้ำประกันได้ โดยกระทรวงการคลัง หารือผู้ที่เกี่ยวข้อง เตรียมออกกองทุนโดยเป็นการบริหารจัดการอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งผ่านอนุมัติหลักการ โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อการประชุมครั้งที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว
นายสมคิด กล่าวว่า ภายใน 3 เดือนการเยียวยาเงินก็จะหมดแล้ว อย่างเก่งก็คือเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม หลังจากนั้นเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจะมาจากไหน ทุกคนเลยคุยกันว่า ครั้งนี้ต้องใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสให้ประเทศไทย ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าการอาศัยการส่งออกอย่างเดียว อาศัยปัจจัยภายนอกอย่างเดียว ไม่ใช่คำตอบ ขณะที่หลายประเทศก็ประสบปัญหาส่งออกไม่ได้ แต่ประเทศไทยโชคดีช่วง 5 ถึง 6 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้โครงสร้างเป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่ต้องไปกู้เงินจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF เพราะสามารถกู้ในประเทศและต่างประเทศได้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุกอย่างดีหมด แม้จะเจอสงครามการค้า การเลื่อนอนุมัติงบประมาณประจำปี 2563 แต่ก็ยังสามารถจำกัดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีก นี่คือเหตุผลที่ต้องออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ
นายสมคิด กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับรัฐบาลมีความสำคัญมาก จินตนาการต่อไปข้างหน้าว่าครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร เปิดห้างสรรพสินค้าคนยังไม่กล้าเดิน การค้าขายไม่ปกติ มีการคลายล็อกต่างจังหวัด การท่องเที่ยวก็ยังติดขัดอยู่ ฉะนั้นเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องเน้นคุณภาพ ใช้ไม่หมดไม่เป็นไร เอาที่มีคุณภาพ ที่เหลือสามารถปรับเปลี่ยนเป็นงบเยียวยาได้ ซึ่งหลักการก็มีกำหนดไว้อยู่แล้ว แต่คำถามก็คือหลังจากนั้นจะทำอย่างไร ซึ่งหารือกันแล้วว่า อย่างน้อยสถานการณ์นี้จะยาวไปถึงปลายปีหน้า ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเกษตรกรเต็มประเทศ เป็นหลักยึดใหญ่ความคิดว่า เศรษฐกิจท้องถิ่นคือส่วนที่งบประมาณแผ่นดินจะต้องเทไปสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง เพื่อรอให้การส่งออกและการท่องเที่ยวดีขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้คนมีงานทำ ฉะนั้นกระทรวงต่างๆ ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการที่จะเสนอโครงการ เอาเงินในงบประมาณนี้มาใช้ให้ได้มากที่สุด ว่าทำอย่างไรไม่ให้ประเทศเสียหาย ประคองให้ถึงปีหน้า เพื่อให้คนไทยมีรายได้ มีอันจะกิน ดึงเอกชนมาช่วย ไม่ใช่ดึงมากิน ฉะนั้นภาระเหล่านี้จะเห็นละว่าครึ่งปีหลังต้องเจอแน่นอน ต้องเตรียมโครงการ ต้องหารือไว้ก่อนระหว่างรัฐบาลกับสภา
นายสมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอใช้โอกาสนี้ชี้แจงด้วยความเคารพ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และดีที่สุดหากจะมีการตรวจสอบความโปร่งใส ชาวบ้านจะได้อุ่นใจ เพราะเงินนี้เป็นเงินก้อนที่ใหญ่มาก จะได้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน อยากให้สภาและพรรคการเมืองมีความสามัคคี ไม่เช่นนั้นจะผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปถึงปีหน้าได้อย่างไร ประชาชนจะพึ่งพาจากใคร.-สำนักข่าวไทย