รัฐสภา 31 พ.ค.-ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน วันสุดท้าย เริ่มขึ้นแล้ว โดยประธานสภาฯ ยืนยันวันนี้จะพิจารณาแล้วเสร็จทุกฉบับแน่นอน ขณะที่วิปฝ่ายค้านขอรอประเมินท่าทีของรัฐบาลก่อนว่า จะเห็นด้วยและตอบรัฐข้อเสนอการตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อตรวจสอบการใช้เงินจากเงินกู้หรือไม่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจเรื่องทิศทางการลงมติในวันนี้
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน วันสุดท้าย เริ่มขึ้นแล้ว หลังจากประธานการประชุมสั่งพักการประชุมไปเมื่อวานนี้ในเวลา 19.30 น. โดยวันนี้ ฝ่ายรัฐบาล รวม ครม. และ ส.ส.พรรคร่วม เหลือเวลาอภิปราย 5 ชั่วโมง 32 นาที ขณะที่ฝ่ายค้านเหลือเวลาอภิปราย 4 ชั่วโมง 55 นาที คาดว่าจะลงมติพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ ได้ในช่วงบ่าย ก่อนจะพิจารณา พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อ และลงมติภายในเวลา 20.00 น. เพื่อเผื่อเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า วันนี้พิจารณาแล้วเสร็จอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ทันทีที่เปิดการประชุมนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ขอบคุณประธานการประชุมที่ควบคุมการอภิปรายตลอด 4 วันที่ผ่านมาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย หากเป็นไปตามนี้ คาดการณ์ว่า 13.30 น. น่าจะลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับได้ และช่วง 18.00-19.00 น่าจะลงมติ พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ว่าทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลบริหารเวลาได้ดี จึงไม่เป็นห่วงเรื่องกรอบเวลา และวันนี้ฝ่ายค้านเหลือผู้อภิปรายจำนวน 5 คน รวมถึงตนเอง ที่จะเป็นผู้ปิดอภิปราย อย่างไรก็ตาม อยากให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมฟังการอภิปรายในวันนี้ เพราะยังมีข้อกังวลและข้อเสนอแนะจากฝ่ายค้านที่ต้องการให้ไปปรับปรุง
ส่วนการลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ ฝ่ายค้านจะขอรอฟังท่าทีของรัฐบาลก่อนว่า จะรับเสนอของฝ่ายค้านที่ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน และให้รายงานการใช้เงินต่อสภาฯ 3 เดือนครั้ง จากเดิมที่ต้องรายงานปีละ 1 ครั้ง ได้หรือไม่ ทั้งนี้ แนวทางการลงมติ พ.ร.ก.แต่ละฉบับอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการชี้แจงของรัฐบาล ซึ่งฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการที่จะค้านทุกเรื่อง ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ด้วยกับการตั้งกรรมาธิการ แต่ให้หน่วยงานอื่นที่มีอย่าง ป.ป.ท.เป็นผู้ตรวจสอบนั้น นายสุทิน มองว่า เป็นระบบตรวจสอบที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่เพียงพอที่จะตรวจสอบโครงการที่มีขนาดใหญ่ และไม่เชื่อมั่นว่าโครงการขนาดใหญ่ระดับนโยบายทางการเมืองที่ชัดเจน ป.ป.ท.จะมีพลังในการตรวจสอบ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการดับเบิลเช็กจากสภา ขณะเดียวกัน ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ก็เห็นด้วยที่จะให้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
ส่วนวันนี้จะมี ส.ส.ฝ่ายค้านโหวตสวนมติหรือไม่นั้น นายสุทิน กล่าวว่า ขณะนี้หมดเวลาของยุคงูเห่าแล้ว แต่เป็นยุคของงูจรจัดที่ลงคะแนนแบบจรจัด.-สำนักข่าวไทย