กรุงเทพฯ 30
พ.ค.- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ ‘คมนาคม-กพท.’
’ แก้ไขปัญหาสายการบินไม่คืนเงินผู้บริโภค โดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเสนอขึ้นราคาตั๋วให้สอดคล้องกับจำนวนที่นั่งที่ลดลง
นางนฤมล
เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ มพบ. ได้เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหา ผู้บริโภคที่ซื้อตั๋วโดยสายของสายการบิน
ทั้งภายนอกและภายในประเทศ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการยกเลิก หรือ
เลื่อนเที่ยวบินอันเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรค โควิด-19 แต่ ปัญหายังไม่ถูกแก้ไขและดูเหมือนว่าจะมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการเอาเปรียบของสายบินเพิ่มมากขึ้นอีก
ดังนั้น จึงได้ทำหนังสือถึง ปลัดกระทรวงคมนาคม และ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ดำเนินแก้ไขปัญหาเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย
มพบ. มีข้อเสนอหลายข้อ เช่น ขอให้ออก ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง
การคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทย ในเส้นทางบินประจําภายในประเทศ
พ.ศ. 2553 เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค
โดยประกาศให้ทุกสายการบินดำเนินการคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการยกเลิกเที่ยวบินเต็มจำนวนก่อนการชดเชยแบบอื่น
สายการบินต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมไม่ว่ากรณีใดๆ
อีกทั้งหากการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินมีค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไป
สายการบินต้องคืนเงินส่วนต่างให้กับผู้บริโภค
โดยในการคืนเงินต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ หากชำระเป็นเงินสด
ให้คืนเงินภายใน 7 วัน และกรณีซื้อผ่านบัตรเครดิตต้องคืนเงินภายใน 30 วัน
. กรณีสายการบินจะคืนเป็น Travel Vouchers หรือสิ่งอื่นแทนเงิน
ต้องได้รับการยินยอมจากผู้โดยสารก่อนเท่านั้น และ
ในกรณีที่สายการบินร่วมกันทำหนังสือขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
หรือ Soft Loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศ วงเงินรวมกว่า
24,000 – 25,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด – 19
นั้น ขอให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว
โดยไม่ควรอนุญาตให้สายการบินเข้าถึงแหล่งเงินกู้
จนกว่าจะมีการจัดการดูแลคืนเงินค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดแก่ผู้บริโภคเรียบร้อย
นอกจากนี้กรณีสำ กพท.อนุญาตให้สายการบินที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่
1 พฤษภาคม 2563 คิดค่าโดยสารได้เต็มเพดานราคาค่าโดยสาร
เนื่องจากต้องให้บริการที่นั่งเว้นระยะตามนโยบายของรัฐบาล
ทำให้ขายจำนวนที่นั่งได้น้อยลงนั้น เห็นว่าเป็นมาตรการเอื้อประโยชน์ให้สายการบินและกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค
เนื่องจากการขึ้นค่าโดยสาร ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้น ดังนั้น
เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค
หากสายการบินใดจะมีการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น กพท.ก็ควรมีแนวทางกำกับการกำหนดอัตราการขึ้นราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับจำนวนที่นั่งโดยสารจริงที่ลดลง
เช่น มีจำนวนที่นั่งหายไปร้อยละ 30 ก็ควรอนุญาตให้ปรับราคาขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30
เป็นต้น –สำนักข่าวไทย