กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – อธิบดีกรมชลประทานย้ำเกษตกรลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปีให้รอฝนตกชุกหรือแหล่งน้ำมีน้ำเพียงพอ ชี้ต้องสงวนน้ำไว้อุปโภคบริโภคและช่วยเหลือภาคการเกษตรในภาวะฝนทิ้งช่วง หลังเพาะปลูกแล้ว ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ปรับเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อผลิตประปาท้องถิ่น
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะทำนาปีรอฝนตกต่อเนื่องหรือแหล่งน้ำมีน้ำเพียงพอจึงค่อยเพาะปลูก ขณะนี้จำเป็นต้องสงวนน้ำระบบชลประทานสำรองไว้สำหรับการอุปโภคบริโภค พร้อมชี้แจงว่ากรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปี 2563 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5% แม้ขณะนี้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว แต่ฝนยังตกไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง กรมชลประทานจึงต้องสำรองน้ำไว้เพื่ออุปโภคบริโภคและช่วยภาคการเกษตรที่เพาะปลูกแล้ว
ล่าสุดมอบหมายให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับนายอำเภอผักไห่ทำความเข้าใจกับเกษตรกรที่ใช้น้ำจากคลองห้วยทรงหรือคลองลำตะเคียนเพื่อเพาะปลูกทุกปี แต่ปีนี้น้ำในคลองแห้ง เกษตรกรไม่สามารถเริ่มทำนาได้ รวมทั้งกังวลว่าหากไม่รีบทำนาช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวไม่ทันต่อโครงการปล่อยน้ำเข้าทุ่งช่วงปลายฤดูฝนซึ่งฝนตก จึงชี้แจงสถานการณ์น้ำของ 4 เขื่อนหลักซึ่งประมาณน้ำต้นทุนที่เหลืออยู่น้อยมาก เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำทำการเกษตรได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องการปล่อยน้ำเข้าทุ่งก่อนเก็บเกี่ยวเสร็จ เนื่องจากปีนี้เน้นเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อนาในที่ลุ่ม โดยเกษตรกรเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ขณะนี้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อการผลิตประปาที่ตั้งอยู่บริเวณเหนือฝายหนองหวาย โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ไม่สามารถสูบน้ำดิบเพื่อผลิตประปาหมู่บ้านได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้นำน้ำต้นทุนที่มีอยู่บริเวณหน้าฝายหนองหวายระบายส่งเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและคลองสายใหญ่ฝั่งขวา สำหรับเติมน้ำดิบให้กับบ่อประปาหมู่บ้านจำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอน้ำพอง อำเภอกระนวน อำเภอซำสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้ระดับน้ำหน้าฝายหนองหวาย มีปริมาณลดลงเหลือเพียง 55 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จึงเร่งประสานไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อปรับเพิ่มการระบายน้ำช่วยเหลือให้สามารถผลิตน้ำประปาได้
ในช่วงนี้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 – 28 พฤษภาคมประมาณ 11 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำเก็บกัก 329 ล้าน ลบ.ม คิดเป็น 13% ของความจุอ่างฯ ซึ่งแม้จะอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่ก็ดีขึ้นจากที่มีฝนตกลงมา ดังนั้นจึงปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 300,000 ลบ.ม. เป็นวันละ 700,000 ลบ.ม. ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 มิถุนายน รวมปริมาณน้ำที่ระบายประมาณ 10.5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อมาเติมหน้าฝายหนองหวาย เพิ่มระดับน้ำในลำน้ำพองให้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเหนือฝายหนองหวายสูบน้ำเพื่อผลิตประปาหมู่บ้านให้ชาวบ้านมีใช้อย่างไม่ขาดแคลน
“ปัจจุบันน้ำระบายมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ไหลมาถึงจุดสูบน้ำดิบของประปาท้องถิ่นแล้ว ระดับน้ำบริเวณจุดสูบน้ำดิบเพิ่มขึ้น ทำให้แพสูบสามารถสูบน้ำเพื่อผลิตประปาหมู่ได้เต็มศักยภาพ ช่วยเหลือชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านคำปลาหลาย บ้านทรัพย์ภูพาน และบ้านหนองผักแว่น ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ ช่วยให้ชาวบ้าน 500 ครัวเรือนมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค” นายศักดิ์ศิริ กล่าว.-สำนักข่าวไทย