รัฐสภา 28 พ.ค.- ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ชี้เหตุเยียวยาล่าช้า เพราะรัฐบาลไม่มี Big Data มองงบด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท น้อยเกินไป ไม่มีงบพัฒนาระบบให้เข้มแข็ง เสนอพัฒนาระบบเชื่อมโยง รพ.สต.กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ ผ่านระบบ Telemed
นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปราย พระราชกำหนด กู้เงิน 3 ฉบับว่า ขอบคุณประชาชนที่ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมา จึงทำให้ทั่วโลกยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพอันดับต้น ๆ ในการป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาล แม้จะรักษาเรื่องสุขภาพได้แต่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของประชาชนรวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นเหตุผลต้องออกพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ
นายภราดร กล่าวว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณ 555,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่ทางปฏิบัติจะเห็นว่าเกิดความวุ่นวายมากมาย คนที่ควรได้รับกลับไม่ได้รับ และต้องมีการอุทธรณ์ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีฐานข้อมูลของประชาชนทั้งประเทศ ไม่มี Big Data จึงทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา
ส่วนงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท นายภราดร กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะนำไปเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ใช้โอกาสนี้สร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร และไปช่วยส่งเสริมกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือ New Normal ของการท่องเที่ยวกำลังจะเกิดขึ้น Social distancing กำลังจะเกิดขึ้น เงินก้อนนี้กำลังจะนำไปแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพให้กับระบบการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ทำจะไม่มีความหมาย หากนักท่องเที่ยวไม่มีความมั่นใจในเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงต้องสร้างความเข้มแข็งและความมั่นใจให้กับคนไทยและคนต่างชาติ เกี่ยวกับด้านสาธารณสุข
นายภราดร กล่าวว่า น่าเสียดายที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรเพียง 45,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่ควรคำนึงถึงเจ้าหน้าที่ภาคส่วนอื่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งหมดล้วนแต่เป็นองคาพยพที่พยายามช่วยกันป้องกันสถานการณ์ไม่ให้เลวร้าย และอีกส่วนหนึ่งนำไปทำวัคซีน ทำการวิจัย การกักตัว และกันส่วนหนึ่งไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่มีงบประมาณเพื่อสร้างความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขไทย งบประมาณ 45,000 ล้านบาท จึงเป็นงบประมาณที่น้อยมากเป็นเพียงแค่ร้อยละ 4.5 ของทั้งหมด
“ทำไมไม่ใช้โอกาสตรงนี้ สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสาธารณสุข จะเห็นว่าที่ผ่านมา 2 ถึง 3 เดือน ระบบสาธารณสุขมีความเข้มแข็งมาก แต่เป็นความเข้มแข็งบนความขาดแคลน มีแต่หัวใจที่จะไปสู้ แต่ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีอาวุธเพื่อต่อสู้กับโรคร้าย โรงพยาบาลสาธารณสุขประจำตำบล (รพ.สต.) มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะยกระดับให้มีคุณภาพและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้มากขึ้น ไม่มีการเชื่อมโยงโรงพยาบาลอำเภอ เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขพยายามจะทำอยู่ แต่ด้วยงบประมาณได้ในแต่ละปี จึงไม่สามารถเชื่อมโยงได้การเชื่อมโยงข้อมูลได้ ทำให้ประชาชนมุ่งหน้าเข้าไปที่โรงพยาบาลประจำอำเภอจนแน่น ทั้งที่ รพ.สต. สามารถรองรับคนจำนวนมากได้ จึงควรเชื่อมโยงเครือข่ายผ่านระบบ Telemed ให้เกิดประโยชน์” นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวว่า คงจะไม่มีใครเดินทางเข้ามาในประเทศ หากไม่มีความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุข เช่นเดียวกันคนไทยก็ไม่มีความมั่นใจว่าคนที่เดินทางเข้ามาจะนำโรคร้ายมาแพร่ในประเทศหรือไม่ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ความสำคัญกับระบบสาธารณสุขให้มากขึ้น การคัดกรองจะต้องมีเครื่องมือที่ตรวจสอบได้ชัดเจน หากป่วยจะถูกกันออกไป หากไม่ป่วยจะต้องไม่ถูกกักตัวเป็นระยะเวลาถึง 14 วัน สามารถเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเดิน มาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ เช่นเดียวกันต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนไทยว่าคนที่เข้ามาในประเทศ จะไม่นำโรคร้ายเข้ามาแพร่ในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจในระบบสาธารณสุข และจะนำพาไปสู่ความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย