กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – ผู้ว่าการรถไฟฯ ประกาศเดินหน้าแก้ปัญหาผู้บุกรุกพื้นที่รถไฟฯ เด็ดขาด ระบุไม่ประนีประนอมกับการบุกรุก 3 แบบ คือ การบุกรุกกระทบกับความปลอดภัยเดินรถ เป็นแหล่งอาชญากรรม มั่วสุม และมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตามมา
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟในพื้นที่สำคัญ เช่น บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 นิคมรถไฟมักกะสัน บางซื่อ และจิตรลดา และได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด และวางแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เพื่อดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินการรถไฟฯ ให้เกิดประโยชน์มูลค่าทรัพย์สูงสุด ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนรถไฟ และชุมชนโดยรอบ
ผู้ว่าการรถไฟฯ ระบุว่าได้วางกรอบการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินรถไฟลักษณะเชิงรุก โดยจะไม่ประนีประนอมกับการบุกรุกพื้นที่ที่เข้าข่ายในลักษณะสำคัญ 3 เรื่อง คือ การบุกรุกที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถ ทั้งตัวรถที่เป็นทรัพย์สินของการรถไฟ ประชาชนผู้ใช้บริการและพนักงานที่ปฏิบัติงาน เช่น สถานีคลองตัน กทม. ซึ่งการบุกรุกล้ำพื้นที่เขตทาง สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเกินรถ และ 2.กรณีการบุกรุกที่มีการเข้าไปใช้พื้นที่ของรถไฟ และอาจกลายเป็นแหล่งอาชญากรรมพื้นที่มั่วสุมการพนัน ซึ่งส่วนนี้ต้องจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด 3.การบุกรุกพื้นที่ที่ทำให้เกิดสิ่งปลูกสร้างลักษณะขวางทางน้ำและที่ผ่านมาทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัดมีหลายพื้นที่ซึ่งสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง
ทั้งนี้ ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวด้วยว่า ยังมีประเด็นปัญหาการบุกรุกลักษณะย่านการค้าที่เป็นตลาด ซึ่งการรถไฟมีนโยบายที่จะเข้าไปจัดระเบียบ ทำการเจรจากับผู้ค้า ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหามาเฟียคุมพื้นที่และเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ค้า มีการเก็บผลประโยชน์หลายทอด เมื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาเสร็จแล้วจะเข้าไปดูแลผู้ค้าโดยตรง ยืนยันว่าผู้ค้าที่เคยต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กลุ่มผลประโยชน์อื่น ๆ จะมีค่าใช้จ่ายในการใช้พื้นที่ประกอบอาชีพลดลงอย่างแน่นอน
ส่วนกรณีพื้นที่ตลาดร่มหุบหรือตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม นายนิรุฒ กล่าวว่า จุดดังกล่าวไม่มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นพื้นที่สถานีที่สิ้นสุดการเดินรถแล้ว อย่างไรก็ตาม เร็ว ๆ นี้การรถไฟฯ จะมีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อวางกรอบดูแลความปลอดภัยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับพื้นที่บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม. 11 นิคมรถไฟมักกะสัน บางซื่อ และจิตลดา (สามเหลี่ยม) เกิดปัญหาผู้บุกรุกเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยาวนาน จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนเสื่อมโทรม เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทางด้านสาธารณสุข สุขอนามัย จนกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานการรถไฟฯ ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาภายนอก
สำหรับข้อมูลที่ดินทรัพย์สินของ รฟท.ทั่วประเทศ มีจำนวน 234,976 ไร่ แยกเป็น 5 กลุ่มได้แก่ 1. พื้นที่เขตทางร้อยละ 80.68 ของที่ดินโดยรวม กลุ่มที่ 2 พื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ มีสัดส่วนร้อยละ 15.45 กลุ่มที่ 3 พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) คิดเป็นร้อยละ 2.27 กลุ่มที่ 4 พื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการ ร้อยละ 1.6 และกลุ่มที่ 5 เป็นพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศกว่า 40,000 ไร่ ได้ว่าจ้างเอกชนลงสำรวจแผนที่ภูมิศาสตร์โดยละเอียด รวมทั้งดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ส่วนการทำฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการบริหารทรัพย์สินของ รฟท.ทั่วประเทศกว่า 200,000 ไร่นั้น บริษัทฯ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วนงานหลัก คือ ส่วนงานที่ 1 งานจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ส่วนงานที่ 2 งานจัดทำฐานข้อมูล ผู้เช่า ผู้ใช้สิทธิ การบุกรุก และส่วนงานที่ 3 งานพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพย์สินและสัญญา โดยบูรณาการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครบถ้วนสมบูรณ์ ตามรายละเอียดของแต่ละส่วนงาน โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ เพื่อจัดเก็บระบบฐานข้อมูลดิจิทัลที่ครบถ้วน ถูกต้อง และทันสมัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบริหารทรัพย์สินของ รฟท. ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด.-สำนักข่าวไทย