กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – กฟผ.คาดจะเปิดรับซื้อปาล์มผลิตไฟฟ้าได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ รอกรมการค้าภายในแจ้งราคาแนะนำ และรายชื่อโรงสกัด ตามข้อกำหนดรัฐที่ต้องมีสตอกเกินร้อยละ 50 รอรัฐชี้ขาดเงินซื้อใช้งบกลางหรือค่าไฟฟ้าเอฟที ด้าน สนพ.รายงานภาวะเชื้อเพลิงชีวภาพ
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมการค้าภายในตามนโยบายรัฐบาลให้เปิดประมูลราคาปาล์มดิบหรือซีพีโอ เพื่อผลิตไฟฟ้าอีก 37,550 ตัน ว่าจะให้กำหนดราคาแนะนำเพื่อประมูลเท่าใด และโรงงานสกัดใดบ้างมีสิทธิ์เสนอราคา เพราะตามข้อกำหนดของรัฐบาล คือ ให้ กฟผ.ซื้อเฉพาะโรงงานที่มีสตอกเกินร้อยละ 50เท่านั้น หากได้รับคำตอบสัปดาห์นี้ ทาง กฟผ.ก็จะเปิดประมูลได้ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยที่ผ่านมางบฯที่ กฟผ.นำมาซื้อปาล์มรวมเกือบ 5,000 ล้านบาท และกำลังรอความชัดเจนว่ารัฐจะจ่ายให้ กฟผ.ด้วยงบกลาง หรือให้นำไปคำนวณค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเอฟที
“เงื่อนไขการรับซื้อทาง กฟผ.ทำตามนโยบายรัฐบาล เงินรับซื้อทั้งหมด ทาง กฟผ.ออกไปก่อนและภาครัฐจะมีการจ่ายให้คืนอย่างไร สุดท้ายก็เป็นของรัฐทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าการนำซีพีโอมาผลิตไฟฟ้า ต้นทุนสูง แต่เมื่อรัฐให้ดำเนินการ กฟผ.ก็พร้อมทำตามเพื่อร่วมดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น” นายพัฒนา กล่าว
นายพัฒนา กล่าวว่า หากภาครัฐเห็นชอบให้นำเงินที่ซื้อปาล์มผลิตไฟฟ้าไปคำนวณเป็นเป็นค่าไฟฟ้าเอฟที ทางกระทรวงพลังงานก็จะต้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าบางปะกงจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดตามลำดับ (Merit order) ตามความต้องการไฟฟ้าขณะนั้น ๆ เป็นการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่จำเป็นต้องเดิน (Must run และ Must take) เนื่องจากเป็นการเดินเครื่องสนองนโยบายรัฐบาลในการดูดซับซีพีโอแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ โดยที่ผ่านมา กฟผ.ดำเนินการตามมาตรการรัฐในการเข้าไปรับซื้อซีพีโอ เพื่อผลิตไฟฟ้าแล้ว 320,789 ตัน และการที่ใช้โรงไฟฟ้าบางปะกงแทนที่จะใช้โรงไฟฟ้ากระบี่ก็เนื่องจากสามารถดูดซับปาล์มได้ปริมาณสูง ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ.ก็ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรของโรงไฟฟ้าให้มาใช้ซีพีโอได้ และไม่ได้คำนวณเป็นต้นทุนการผลิตที่แจ้งต่อภาครัฐแต่อย่างใด
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ในช่วงวันที่ 25-31 พฤษภาคม 2563 คาดผลผลิตผลปาล์มดิบเดือน พฤษภาคมและมิถุนายนจะอยู่ที่ประมาณ 1.67 และ 1.56 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 10.83 จากปีที่แล้ว และ ณ สิ้นเดือนมีนาคมปริมาณการผลิตไบโอดีเซล 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.32 ล้านลิตร/วัน ส่วนเอทานอลภาคเชื้อเพลิงเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคม ประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน โดยมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์เพื่อเดินทางลดลง ส่งผลทำให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันไบโอดีเซลอ้างอิงเฉลี่ย วันที่ 25-31 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 25.16 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.15 บาทต่อลิตร ส่วนราคาผลปาล์ม ณ วันที่ 18-22 พฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 3.10 – 3.30 บาทต่อ กก. โดยราคาซีพีโอ อยู่ที่ 20.5 – 21.25 บาทต่อ กก. ปริมาณสตอกซีพีโอ ณ สิ้นเดือนเมษายนประมาณ 251,369 ตัน สูงขึ้นจากเดือนมีนาคมประมาณ ร้อยละ 48.7
ส่วนราคาเอทานอลอ้างอิงเดือนพฤษภาคม 2563 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน ขณะที่กำลังการผลิตรวม 6.10 ล้านลิตรต่อวัน ผลิตจริงเดือนมีนาคมอยู่ที่ 4.49 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 0.65 ล้านลิตรต่อวัน ปริมาณการใช้ในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนมีนาคมประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนปริมาณการใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในเดือนเมษายนอยู่ที่ 0.52 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.15 ล้านลิตรต่อวัน .-สำนักข่าวไทย