กทม. 22 พ.ค. – ธุรกิจสถานบันเทิง เป็นกิจการที่ถูกสั่งปิดจากพิษโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกๆ แต่ยังไม่มีกำหนดว่าจะได้รับการผ่อนปรนให้เปิดเมื่อไหร่ มีการคาดการณ์ว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องเดือดร้อนกว่า 1 ล้านคน ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ขณะที่ผู้ประกอบการพร้อมปรับตัวทำ New Normal เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
บาร์ เวที โต๊ะเก้าอี้และโซฟา ที่เคยรองรับนักเที่ยวได้กว่า 300 คน ในเกือบทุกค่ำคืน ยังคงว่างเปล่า ไม่รู้อนาคตว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้เมื่อไหร่ เจ้าของร้าน บอกว่า หลังถูกสั่งปิดจากวิกฤติโควิด-19 ต้องสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยเดือนละ 2 ล้านบาท และแบกรับภาระจ่ายค่าเช่าพื้นที่และดูแลพนักงานอีกกว่า 20 ชีวิต อีกเกือบเดือนละ 400,000 บาท ระหว่างนี้จึงให้พนักงานส่วนใหญ่กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดก่อน และคิดทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านอยู่รอด ซึ่งหมายถึงอนาคตของทุกคนด้วย เช่น การไลฟ์คอนเสริ์ตผ่านเพจเฟซบุ๊กของร้าน เพื่อไม่ให้คนลืม อีกทั้งพร้อมปรับตัวหาทางสร้าง New Normal ที่เหมาะสมกับสถานบันเทิงกลางคืน
ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสถานบันเทิงอย่าง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ซึ่งเคยทำวิจัยเกี่ยวธุรกิจคนกลางคืน บอกว่า สถานบันเทิงทั่วประเทศมีอยู่กว่า 20 ประเภท เช่น คาเฟ่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อะโกโก้ และห้องอาหาร ธรรมชาติของสถานบันเทิงมีกิจกรรมที่ต้องพบปะสังสรรค์ จึงยากมากที่จะทำ New Normal และ social distancing เหมือนกับกิจการอื่น
มีข้อมูลว่า ทั่วประเทศมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสถานบันเทิงกว่า 1 ล้านคน เฉพาะย่านถนนรัชดาฯ ก็มีแรงงานมากกว่า 70,000 คนแล้ว แต่เนื่องจากธุรกิจนี้ถูกมองว่าเป็นธุรกิจสีเทานอกระบบ ที่ไม่มีความจำเป็น จึงถูกมองข้าม ไม่ได้รับการช่วยเหลือเหมือนกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ
ศบค. ระบุว่า สถานบันเทิงเป็นกลุ่มธุรกิจสีแดง ที่มีกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง อาจอยู่ในการผ่อนปรนระยะ 4 แต่ต้องมี New Normal เช่น การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง มีที่นั่งที่ปลอดภัย มีการดีไซน์ออกแบบนวัตกรรมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อไปดื่ม ไปนั่งที่ร้าน จะปลอดภัยไม่ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ปรึกษารัฐมนตรีสาธารณสุขถึงขั้นแนะให้เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นแทน แต่ในมุมของผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มนี้ยังมองว่าเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยากมาก. – สำนักข่าวไทย