ทำเนียบ 22 พ.ค.- ศบค. เผย วันนี้ไม่มีตัวเลขผู้ป่วยใหม่และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม เห็นชอบ ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่ออีก 1 เดือน ยึดความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นจุดหลัก สัปดาห์หน้าเตรียมพิจารณามาตรการผ่อนคลายระยะ 3
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่าวันนี้ (22 พ.ค.) ไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยใหม่ รวมผู้ป่วยสะสมอยูที่ 3,037 ราย รักษาหาย 2,910 ราย รักษาอยู่ 71 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตคงเดิม รวม 56 ราย แต่ทั้งนี้ยังคงมีคนไทยที่เดินทางกลับจากอียิปต์และอินเดีย ซึ่งกักกันตัวอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจหาเชื้ออยู่ แต่ก็ถือเป็นการพบเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ได้เป็นการพบเชื้อในประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 8-21 พ.ค. มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 45 ราย โดยเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักกันตัวของรัฐ 15 ราย สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 11 ราย การค้นหาเชิงรุก 6 ราย ไปสถานที่ชุมชน 5 ราย ศูนย์กักกัน 6 ราย และอาชีพเสี่ยง 3 ราย
โฆษก ศบค. กล่าวว่า สถานการณ์โลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 5,194,210 ราย เสียชีวิต 334,621 ราย สหรัฐอเมริกาพบติดเชื้อมากที่สุด 1,620,902 ราย ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 73 ของโลก ส่วนประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศ เกาหลีใต้พบว่า โรงเรียนมัธยม 75 แห่งต้องรีบส่งเด็กนักเรียนกลับบ้าน หลังเพิ่งกลับมาเปิดการเรียนการสอนในวันพุธที่ 20 พ.ค. โดยเช้าวันดังกล่าวโรงเรียนมัธยมในเมืองอินชอน พบเด็กนักเรียน 2 คน มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภายหลังมีการเปิดแพลตฟอร์มไทยชนะ ผ่าน www.ไทยชนะ.com สรุปภาพรวมการใช้งานของวานนี้ ( 21 พ.ค.) เวลา 21.00 น. พบว่ามีร้านค้าลงทะเบียน 81,149 ร้าน มีผู้ใช้งาน 7,470,609 คน มีผู้เช็คอิน 14,538,639 คน และเช็คเอาท์ 10,932,694 คน และมีการประเมินร้านค้า 6,368,094 คน
โฆษก ศบค. กล่าวถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของทุกคน ทำให้ทั่วโลกชื่นชมการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในไทย ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ต่างชาติได้เห็น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการผลิตวัคซีนในไทยที่สำเร็จในระดับหนึ่ง โดยสำเร็จในระดับสัตว์ทดลอง แต่ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ซึ่งต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นความสำเร็จในระยะเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายขั้นตอน และต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปี ไม่เช่นนั้นจะเกิดความคาดหวัง และเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือยกเลิกมาตรการผ่อนปรนต่าง ๆ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานถึงความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีน ว่ามีผู้พัฒนาวัคซีน 6 เทคโนโลยี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในระดับประเทศ และอยู่ในทิศทางการพัฒนาวัคซีนของทั่วโลก และไม่ว่าจะผลิตเองหรือสั่งซื้อจากต่างประเทศ ก็ต้องใช้ระยะเวลา1-3 ปี ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนต่างประเทศในการผลิตวัคซีนด้วย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึง 30 มิถุนายน ตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยยึดหลักเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นจุดหมาย มี 3 เหตุผลคือ ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพื่อการป้องกันอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และเพื่อเตรียมการรองรับในระยะต่อไป ซึ่งไทยอยู่ระหว่างกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมายเพื่อกำกับการบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายอย่างเป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด หลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีการติดเชื้อสูง เมื่อไทยได้ทำมาตรการผ่อนคลายทั้ง 4 ระยะแล้ว ก็จำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากจะเข้าสู่มาตรการผ่อนคลายระยะ 3 โดยไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะควบคุมทุกอย่าง แต่เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการดูแลความเรียบร้อยเพื่อทุกคนและประเทศ ซึ่งมาตรการผ่อนคลายในระยะ 3 จะแบ่งเป็น 5 ช่วง วันที่ 23-24 พ.ค. เป็นการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรม วันที่ 25-26 พ.ค. จะประชุมคณะทำงาน วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลาย วันที่ 29 พ.ค.ประชุม ศบค. และ 1 มิ.ย. มาตรการผ่อนคลายระยะ 3 มีผลบังคับใช้
โฆษก ศบค. กล่าวว่า การตรวจกิจการและกิจกรรมที่ผ่อนคลาย 3 พ.ค. – 21 พ.ค. จำนวน 353,495 แห่ง พบว่า ปฏิบัติตาม 304,946 แห่ง ปฏิบัติไม่ครบ 43,415 แห่ง และไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 5,134 แห่ง.-สำนักข่าวไทย