สำนักข่าวไทย 21 พ.ค.-“นพ.ยง” ชี้การเรียนการสอนในยุคโควิด-19 บ้านต้องมีบทบาทร่วมกับโรงเรียน ดึงปราชญ์ชาวบ้านร่วมสอน การเรียนการสอนวิถีใหม่ให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เกิดความเครียดตั้งแต่เช้าจนเย็น นอกเวลาต้องไปกวดวิชา อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan วันนี้(21พ.ค.) ว่า โควิด-19 เราจะต้องอยู่ด้วยกันได้ ถึงแม้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยติดเชื้อน้อยมาก จะพบการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ มาตรการในการควบคุมทำได้ดีมาก แต่ยังมีโรคนี้ระบาดอยู่ทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนคนจึงเป็นการยากที่จะกวาดล้างไวรัสนี้ให้หมดไป ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ในทุกปี โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่ RSV จะพบน้อยมากในฤดูร้อนและในช่วงปิดเทอม จะระบาดมากในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม จะติดต่อกันง่ายมาก ในโรงเรียน
โควิด-19 เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ ก็ไม่แปลก ที่จะระบาดในฤดูฝน โดยเฉพาะจากเด็กสู่เด็กก่อน แล้วจึงแพร่ระบาดออกไป การระบาดในระลอก 2 ถ้าเกิดในฤดูฝน อย่างไข้หวัดใหญ่ ก็ยากที่จะควบคุม จะต้องเริ่มต้นปิดบ้านปิดเมืองใหม่ หรือไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น การเรียนการสอนปีนี้ จึงต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้
เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้านและ ที่โรงเรียน การเรียนการสอน ไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านก็จะต้องมีบทบาทมาก แม้กระทั่งท้องถิ่นก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมายที่พร้อมจะสอนได้ การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถกำหนดระยะห่างของบุคคลได้ เด็กเรียนกวดวิชาจ่ายค่าเล่าเรียนแพง แล้วนั่งเรียนกับครูตู้ นั่งติดกัน ก็ไม่เห็นมีใครบ่น หรือดรามา
ที่ผ่านมา คนมีฐานะสามารถให้ลูกหลานไปเรียนกวดวิชา เกิดความแตกต่างทางการศึกษา เพราะตัววัดของเราไม่ดี คุณครูเองก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสเลย การเรียนเชิงภาคปฏิบัติ ปฏิบัติงานจริง ไปทำได้จริง ถึงอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้
การศึกษาในปีนี้จึงต้องมีการเตรียมการ การเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เกิดความเครียดในการเรียน ตั้งแต่เช้าจนเย็น นอกเวลาต้องไปกวดวิชา วิถีชีวิตใหม่ อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นก็ได้ .-สำนักข่าวไทย
