ทำเนียบฯ 20 พ.ค.-“เทวัญ” สั่งการ สคบ.ดำเนินมาตรการเชิงรุกตรวจสอบเว็บไซต์สินค้าออนไลน์ ภายใน 7 วันหลังรับเรื่องร้องทุกข์ เร่งเจรจาหารือคืนเงินจองบ้านให้ประชาชน หลังกู้ไม่ผ่าน
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ครั้งที่ 4/2563 ว่า ในวันนี้ได้มีการหารือในหลายกรณีและคาดว่าหลังวิกฤติโควิด-19 จะมีประชาชนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจมาร้องเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องบ้านและคอนโดมิเนียม หมู่บ้านจัดสรร เนื่องจากผู้กู้มีรายได้ที่ลดลง ทำให้การเสนอขอกู้บ้านไม่ผ่านเกณฑ์ จึงได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไปเจรจากับหมู่บ้านจัดสรร เพื่อคืนเงินจองให้กับประชาชนที่กู้บ้านไม่ผ่านเกณฑ์ ส่วนประเด็นข้อร้องเรียนสายการบินที่ถูกยกเลิกนั้น กระทรวงคมนาคมและสายการบินจะเป็นผู้จ่ายเงินเยียวยาตามข้อกำหนดของระยะเวลาการจองก่อนหรือหลังสถานการณ์โควิด-19 ตามมาตรการที่วางไว้
นายเทวัญ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สคบ.ยังได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วง Work From Home กรณีประชาชนสั่งของออนไลน์มากขึ้น พบว่าได้รับของไม่มีคุณภาพ ไม่ตรงตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งข้อร้องเรียนดังกล่าวเข้ามากเป็นพิเศษ จึงกำชับให้ สคบ.เร่งดำเนินการรับเรื่องร้องทุกข์เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 7 วัน พร้อมดำเนินการมาตรการเชิงรุกกับเว็บไซต์ออนไลน์ผิดกฎหมายโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนร้องเรียนมา ยกเว้นบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์การสูบที่สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งขณะนี้มีการจับกุมได้เป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ สคบ.ได้ทำ MOU กับบริษัทส่งอาหารเดลิเวอรี่ ให้ส่งอาหารได้อย่างมีมีคุณภาพ สะอาด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
นายเทวัญ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม สคบ.มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 9 บริษัทกรณีผิดสัญญาในที่สาธารณะประโยชน์ เนื่องจากมีการเก็บค่าส่วนกลางเพิ่มเติม ,การก่อสร้างห้องชุดไม่แล้วเสร็จตามสัญญา 2 บริษัท ,ยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโดยไม่มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องทราบ/ผิดสัญญาจ้างตกแต่งภายใน ,ผิดสัญญาเนื่องจากมีการก่อสร้างล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญา ,ไม่ดำเนินการแก้ไขความชำรุดบกพร่องห้องชุดตามสัญญา,ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดโดยการขายให้บุคคลอื่น ,ผิดสัญญาเนื่องจากไม่มีที่จอดรถประจำให้ตามสัญญา
นายเทวัญ ยังกล่าวถึงการจัดตั้งโรงทานทั่วประเทศกว่า 900 แห่งตามดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย