กรุงเทพ 19 พ.ค.-อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เห็นว่าการส่งศพผ่าตรวจพิสูจน์ซ้ำกรณีไม่แน่ใจในผลการตรวจพิสูจน์ครั้งแรก เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่สิ่งที่อยากให้สังคมเรียนรู้จากคดี “น้องชมพู่” คือ การให้ความสำคัญของทีมตรวจสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่เก็บพยานหลักฐานทุกอย่างไปตรวจพิสูจน์ ติดตามจากรายงาน
ศพของน้องชมพู่วัย 3 ขวบ ชาวมุกดาหาร ถูกส่งมาตรวจที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ หลังญาติไม่แน่ใจผลการตรวจครั้งแรกของกลุ่มงานนิติเวช โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ที่ระบุไม่พบร่องรอยทำร้ายร่างกายหรือการร่วมเพศ แต่ผลตรวจของสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ พบร่องรอยถูกทำร้ายร่างกายและอวัยวะเพศ
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม แสดงความเห็นว่าการผ่าศพตรวจพิสูจน์ซ้ำกรณีไม่แน่ใจในผลการตรวจพิสูจน์ครั้งแรก ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ทำได้ ซึ่งอาจเจอหลักฐานเพิ่ม หรือการมองคนละอย่าง แต่สิ่งที่อยากให้สังคมเรียนรู้จากคดีน้องชมพู่ คือ การให้ความสำคัญของทีมตรวจสถานที่เกิดเหตุ หรือ Crime scene investigation กรณีมีการตายผิดธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
การตายผิดธรรมชาติ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ ฆ่าตัวตาย ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยยังมิปรากฏเหตุ หากมีการตายผิดธรรมชาติ พนักงานสอบสวน และแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ ต้องร่วมชันสูตรพลิกศพในที่พบศพ แต่การขาดแคลนแพทย์นิติเวช จึงมีบทเฉพาะกาล ผ่อนผันให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ผ่านการอบรมทางนิติเวชศาสตร์ไปร่วมชันสูตรพลิกศพ
แพทย์นิติเวชที่มีประมาณ 100 คน กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และตัวเมืองเชียงใหม่ ในหลายคดีที่มีการตายผิดธรรมชาติ รวมถึงคดีน้องชมพู่ จึงไม่น่ามีแพทย์นิติเวช ร่วมชันสูตรพลิกศพในที่พบศพ
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ เคยเป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม เคยเสนอปัญหาการตรวจสถานที่เกิดเหตุ จนมีการยกร่าง พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ สาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือการมีทีมตรวจสถานที่เกิดเหตุ หรือ Crime Scene Investigation ซึ่งเป็นทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะรวมถึงแพทย์นิติเวช ที่จะทำหน้าที่เก็บพยานหลักฐานทุกอย่างไปตรวจพิสูจน์ และทำรายงานให้พนักงานสอบสวน นำไปใช้ประกอบสำนวนคดีได้เลย ซึ่งจะแตกต่างจากทุกวันนี้ ที่ตำรวจตรวจสถานที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐานให้พนักงานสอบสวน จากนั้นพนักงานสอบสวนส่งหลักฐานเหล่านั้นไปตรวจพิสูจน์ ซึ่งอาจทำให้หลักฐานสำคัญหลายอย่างตกหล่นได้ จากดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนเอง แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแพทย์หญิงพรทิพย์ บอกว่าการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ยังเป็นไปตามรูปแบบเดิม ที่อาจไม่ทันต่ออาชญากรรมที่เปลี่ยนไป
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ บอกว่าหากมีทีมตรวจสถานที่เกิดเหตุ ตามร่าง พ.ร.บ.นิติวิทยาศาสตร์ ที่ยกร่างไว้แล้ว น่าจะทำให้การรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่ซับซ้อนและการตายผิดธรรชาติ เช่น คดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ มีหลักฐานแน่นหนา ตั้งแต่ครั้งแรกของการพบศพ.-สำนักข่าวไทย