กทม. 19 พ.ค. – ย้อนดูแผนฟื้นฟูของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ เพื่อเป็นต้นแบบให้การบินไทย หลังเคยประสบปัญหาขาดทุนหนัก จนต้องขอยื่นล้มละลาย ออกจากตลาดหลักทรัพย์ และเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ จนกลับมาพลิกฟื้นสร้างผลกำไรได้อีกครั้ง
จุดเริ่มต้นสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1951 หรือ พ.ศ.2494 ได้รับรางวัลอันดับหนึ่ง 5 ปีซ้อน ด้านการขนส่งผู้โดยสารและคาร์โก้จาก IATA และเข้าสู่ตลาดหุ้นอย่างสง่างาม แต่ต่อมามีปัญหาค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป อาทิ ภาระค่าใช้จ่ายดูแลรักษาเครื่องบินขนาดใหญ่ การทำงานของพนักงานที่ไม่เป็นเอกภาพ ทำการบินในเส้นทางที่ขาดทุน จำนวนพนักงานที่มากเกินความจำเป็น ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องอัดฉีดเงินอยู่หลายครั้งด้วยเงินมหาศาล สุดท้ายรัฐบาลประกาศไม่อุ้มสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป ทำให้ต้องขอยื่นล้มละลายในปี ค.ศ.2010 หรือ พ.ศ.2553 รวมทั้งออกจากตลาดหลักทรัพย์และเข้าโครงการฟื้นฟูกิจการ
เมื่อเข้าโครงการฟื้นฟู รัฐบาลญี่ปุ่นได้เชิญ คาซุโอะ อินาโมริ เข้ามาเป็นประธานสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ เพราะมีประสบการณ์ด้านการบริหารมาบริหารสายการบินแห่งชาติ ด้วยปรัชญาการทำงานคือ ให้พนักงานทุกคนมีความสุข เพิ่มยอดขายให้ได้กำไรสูงสุด ลดค่าใช้จ่ายให้ต่ำที่สุด โดยแบ่งหน่วยงานภายในให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ให้แต่ละกลุ่มจัดทำบัญชีของหน่วยงานตนเอง เพื่อบริหารรายได้รายจ่ายของกลุ่มย่อย สร้างจิตสำนึกเรื่องการประหยัดให้แก่ทุกคน ลดจำนวนพนักงานเหลือเท่าที่เหมาะสม ลดจำนวนเครื่องบินขนาดใหญ่ด้วยการขาย และตัดเส้นทางการบินที่ไม่คุ้มทุนทิ้งไป ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่างแควนตัสของออสเตรเลีย สร้างสายการบินต้นทุนต่ำ เจ็ทสตาร์ แข่งกับสายการบินอื่น สร้างความร่วมมือทางการตลาดกับสายการบินทั่วโลกที่เรียกว่า One World จนทำให้เจแปน แอร์ไลน์ กลับมาสร้างผลกำไรอีกครั้งและทำกำไรได้ทุกปี
ในปี 2555 สายการบินเจแปนแอร์ไลน์กลับเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวอีกครั้ง และปีล่าสุด 2562 เจแปนแอร์ไลน์สร้างกำไรจากการดำเนินงานได้เกือบ 30,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย