กทม. 15 พ.ค.-“อนุทิน”นำมอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 5,000 โด๊ส ให้แก่ รพ.จุฬาฯ ซึ่งปีนี้เป็นปีแรกที่ สธ.รณรงค์ฉีดในบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อความพร้อมในการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 ขณะเดียวกันเดินหน้าร่วม สปสช.รณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงและกรมควบคุมโรค มอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ให้แก่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จำนวน 5,000 โด๊ส เพื่อสนับสนุนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในบุคลากรทางการแพทย์
นายอนุทิน กล่าวว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้บุคลากรทางการแพทย์ ทางกระทรวงได้มอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการ ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดหาวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการ แพทย์ เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการดูแลประชาชนและมีความเสี่ยงในขณะปฏิบัติงาน บุคลากรเจ็บป่วยก็จะเกิดผลกระทบกับการให้ บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้บุคลากรมีสุขภาพที่แข็งแรงพร้อมดูแลผู้ป่วย หลังจากผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สำหรับกลุ่มประชาชน กระทรวงฯได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทั้งประเทศจำนวน 4.11 ล้านโด๊สให้กับประชาชน 7กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง(ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างรับเคมีบำบัด เบาหวาน) 4.บุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ และ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 390,733 ราย และเสียชีวิต 27 ราย
สำหรับการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ถึง 31ส.ค.63 ซึ่งเร็วกว่าปีที่ผ่านมา 1 เดือน ช่วยให้กลุ่มเสี่ยงได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเร็วขึ้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะโควิด-19 กลับมาระบาดเพิ่มขึ้น หลังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า วัคซีนที่ได้รับมอบจากกระทรวงฯ ทาง รพ.จุฬาฯ เตรียมนำไปฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องปฏิบัติงานในจุดเสี่ยง เป็นการสร้างกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล
ขณะที่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เปิดเผยความคืบหน้าว่า ขณะนี้ทดสอบวัคซีนต้นแบบในสัตว์ทดลองหนูและลิง เพื่อค้นหาวัคซีนที่ดีที่สุด ก่อนเริ่มผลิตและทดสอบในอาสาสมัคร คาดว่าวัคซีนโควิด-19 จะเป็นรูปธรรมได้ในช่วงประมาณกลางปี 2564 ขึ้นอยู่กับผลจากกระบวนการทดสอบด้วย .-สำนักข่าวไทย