กรุงเทพฯ 14 พ.ค. – บอร์ดสรรหาเลือกผู้ว่าฯ กฟผ.คนใหม่ ชี้ขาด 19 พ.ค.นี้ งานหนักของผู้ว่าฯ เผชิญผลกระทบการใช้ไฟฟ้าลดลงจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมไฟฟ้า ที่ล่าสุด กฟผ.ร่วมบริษัทในเครือเตรียมลงนามจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมไตรมาส 3/63 ด้าน “ราชกรุ๊ป” พร้อมนำเข้าแอลเอ็นจี เพื่อใช้กับโรงไฟฟ้าหินกอง ยื้อลงนามกับ ปตท.
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช ประธานกรรมการสรรหาผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผว่า วันที่ 19 พฤษภาคมนี้ทางคณะกรรมการสรรหาจะเชิญผู้สมัครทั้ง 3 คน สัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งกรอบการให้คะแนนนั้นมีอยู่แล้ว การสรรหาจะเป็นไปอย่างโปร่งใส ทั้ง 3 คนล้วนเป็นระดับรองผู้ว่าการฯ ที่คุ้นชินกับงาน กฟผ. ดังนั้น คงจะดูถึงแผนงานที่เสนอมาเป็นอย่างไร แนวทางมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ใด เพราะต้องยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้าของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ทั้งเชื้อเพลิง ทั้งรูปแบบการผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้น ทาง กฟผ.ก็ต้องเป็นองค์กรที่ปรับตัว และผู้นำองค์กรก็มีส่วนสำคัญ โดยทางคณะกรรมการสรรหาก็จะลงมติวันเดียวกัน และเร่งนำเสนอต่อคณะกรรมการ กฟผ.ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ว่าการ กฟผ.จำนวนทั้งสิ้น 3 ราย ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าของประเทศปีนี้มีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 โดยเดือนเมษายนลดลงร้อยละ 10 จากการปิดตัวของห้างสรรพสินค้า อาคารต่าง ๆ และโรงงานอุตสาหกรรม ทำงานน้อยลง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าบ้านเพิ่มขึ้นจากการทำงานที่บ้าน แต่หากคลายลอกดาวน์แล้วเศรษฐกิจขยับมาดีขึ้นก็คาดว่าการใช้ไฟฟ้าก็จะดีขึ้น
นายกิจจา กล่าวด้วยว่า กฟผ.และบริษัทในเครือ คือ ราชกรุ๊ปและเอ็กโก้กรุ๊ป จะร่วมกันจัดบริษัทนวัตกรรม เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจและสังคม ซึ่งจะดูถึงความร่วมมือว่าจะลงทุนอะไรบ้าง สมารท์ ซิตี้ หรืออื่น ๆ โดยคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ไตรมาส 3/2563 โดยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปผู้ใช้ไฟฟ้ามีการผลิตไฟฟ้าใช้เองเพิ่มขึ้นตามโครงการ Independent Power Supply (IPS) ในส่วนของบริษัทจึงมีการร่วมทุนอหุ้น กับ บมจ.นวนคร (NNCL) และบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อร่วมลงทุนในสัดส่วน 40% ,35% และ 25% ตามลำดับ เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภท Independent Power Supply ระบบ Cogeneration ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 40 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่าประมาณ 2,176 ล้านบาท ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณเดือนกรกฎาคม 2566 และบริษัทยังร่วมทุนสมาร์ทซิตี้ ในโครงการ District9 เป็นความร่วมมือกับบริษัท นวนคร จำกัด (NNCL) บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , Graduate School of Design มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด เพื่อพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรรมอัจฉริยะเต็มรูปแบบ และบริษัทได้ร่วมทุนโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะอีกด้วย โดยเฉพาะโครงการใน กทม.-ปริมณฑล
ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ขณะนี้ทางบริษัทยังไม่ได้ตกลงที่จะรับซื้อจาก บมจ.ปตท. เนื่องจากยังมีเวลาในการจัดหาก๊าซ เพราะโรงไฟฟ้าจะสร้างเสร็จปี 2567 และ 2568 โดยทางบริษัทเสนอไปยัง กฟผ. ว่า ทางราชกรุ๊ปฯ สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ได้ในราคาต่ำกว่าการจัดซื้อ จาก ปตท. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ต้องรอนโยบายเปิดเสรีนำเข้าแอลเอ็นจีของกระทรวงพลังงานจะประกาศออกมาอย่างใด และผู้ที่จะตัดสินใจว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้จัดหาก๊าซแก่โรงไฟฟ้าหินกอง คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ.- สำนักข่าวไทย