บางกอกน้อย 14 พ.ค.-สปสช. จับมือ สสส. – ม.มหิดล รุกตรวจคัดกรองโควิด-19 คนไร้บ้าน กว่า 100 คน ป้องกันแพร่ระบาดและเป็นครั้งแรกเพิ่มตรวจหาภูมิคุ้มกัน เพื่อวิเคราะห์การแพร่ระบาดของโรค
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสุขภาพสูง และมีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ สปสช. ให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนไทยทุกคน โดยเฉพาะในช่วงของการระบาดของโควิด-19 จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่การตรวจคัดกรองโควิด-19 โดยวิธีเชิงรุก เพื่อป้องกันหากมีคนไร้บ้านติดเชื้อจะสามารถรักษา และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากข้อจำกัดของที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน ที่มีความแออัด หรือบางส่วนอยู่ในพื้นที่สาธารณะ
ด้าน ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การตรวจคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจคัดกรองวัดไข้ในเบื้องต้นให้กับประชาชนและกลุ่มคนไร้บ้าน และสนับสนุนเชิงวิชาการในกระบวนการตรวจยืนยันผล เพื่อหนุนเสริมการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการทำงานเชิงรุกกับกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูงอย่างกลุ่มคนไร้บ้านที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิและบริการในการตรวจคัดกรอง สำหรับข้อมูลเบื้องต้นพบว่าหลังสถานการณ์โควิดมีคนไร้บ้านที่ศูนย์พักคนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู (บางกอกน้อย) กว่า 100 คน เป็นคนสูงอายุ 70 คน โดยทุกคนมีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นอกจาก จะตรวจสวอป สารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก แบบ PCR ได้เพิ่มการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปราว 70 คน เพื่อจะเป็นตัวบ่งชี้ ว่าเชื้อโควิด-19 แพร่เข้าสู่ชุมชนหรือยัง นำสู่การสืบค้นโรคในชุมชน ถือเป็นบทสะท้อนให้เห็นว่า ภาครัฐมีกระบวนการดูแลครอบคลุมทั่วถึงอย่างไร
ขณะที่การตรวจกลุ่มคนในสถานกักขังและ ศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่งที่ผ่านมาราว 300 คนยังให้ผลเป็นลบ ไม่มีใครได้รับเชื้อโควิด-19 ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม หวังว่าการทำงานเชิงรุกเช่นนี้ จะช่วยหนุนเสริมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ นำผลลัพธ์ไปใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนต่อไป
ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. ได้นำเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการป้องกันมาสมทบเพิ่มเติม 1600 ชุด โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากผลสำรวจพบว่า กว่า 26% ของคนไร้บ้านในกทม. เป็นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีโรคประจำตัว และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนช่วงหลังการแพร่ระบาดสำหรับการฟื้นฟูคนไร้บ้านทั้งด้านสุขภาพกายสุขภาพจิต และด้านเศรษฐกิจการมีงานมีรายได้เพื่อให้คนไร้บ้านสามารถกลับขึ้นมายืนด้วยตัวเองได้อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย