กรุงเทพฯ 12 พ.ค. – กรมวิชาการเกษตรดันดอกอัญชันไทยเจาะตลาดอินโดนีเซีย เจรจาพร้อมเสนอข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชยื่นอินโดฯ พร้อมส่งออกได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เร่งผู้ประกอบการขอใบรับรองสุขอนามัยพืช
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ได้ยื่นขอเปิดตลาดดอกอัญชันแห้งส่งไปยังกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย โดยข้อมูลทางวิชาการประกอบการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชต่อหน่วยงานกักกันพืชของอินโดนีเซีย (IAQA) เพื่อพิจารณาเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 ล่าสุดมีหนังสือตอบรับอินโดนีเซียว่าได้วิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชของดอกอัญชันแห้งจากไทยเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมส่งร่างข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชของดอกอัญชันแห้งที่ไทยจะส่งไปยังอินโดนีเซียมาให้กรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้มีหนังสือตอบยอมรับข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืชกลับไปยังอินโดนีเซียแล้วเช่นกัน
ทั้งนี้ อัญชันจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากมาย ซึ่งตลาดต่างประเทศต้องการสูง เนื่องจากมีสารแอนโทไซยานิน (anthocyanin) เป็นสารสำคัญมากกว่าพืชชนิดอื่นถึง 10 เท่า มีคุณสมบัติช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงสายตา ลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระในดอกอัญชันยังช่วยบำรุงผิวพรรณและชะลอริ้วรอยแห่งวัยได้ด้วย ที่ผ่านมาส่งออกดอกอัญชันแห้งไปหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะออสเตรเลียมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 4,000 บาท/กิโลกรัม
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อว่า กรมวิชาการเกษตรในฐานะเป็นองค์กรอารักขาพืชแห่งชาติ (National Plant Protection Organization) พยายามเปิดตลาดส่งออกดอกอัญชัญแห้งเพิ่ม ซึ่งในที่สุดอินโดนีเซียเปิดรับอีกประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งออกดอกอัญชันแห้งไปอินโดนีเซียจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยพืช โดยการส่งออกต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Requirement) ซึ่งออกให้โดยกรมวิชาการเกษตรแนบไปพร้อมกับสินค้า สินค้าต้องไม่มีการปนเปื้อนแมลงที่มีชีวิต ศัตรูพืชชนิดอื่น ๆ วัชพืช ดิน ราก หรือวัสดุที่สามารถนำพาศัตรูพืชได้ ต้องผ่านการทำความสะอาด อบแห้งด้วยความร้อนในเตาอบที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8-10 ชั่วโมง และบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่แสดงฉลากเพื่อใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร.0-2561-1680.-สำนักข่าวไทย