กรุงเทพฯ 11 พ.ค.-กลุ่ม
ปตท.คาดผลดำเนินการจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
หลังไตรมาส1/63 พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 1,554
ล้านบาท บอร์ด สั่งทบทวนลงทุนเน้นขายในประเทศ หลังเจอบทเรียนโควิด-19
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส1และ2ปีนี้
ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
กระทบหนักต่อการขาดทุนสตอกของธุรกิจโรงกลั่น ปิโตรเคมีและน้ำมันของกลุ่ม
ปตท.เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมไม้ได้เพราะเป็นไปในรูปแบบเดียวกันทั่วโลก
แต่คาดว่าไตรมาส3และ4จะดีขึ้น
ตามทิศทางราคาผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นโดยราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้าในไตรมาส3/63
ได้เริ่มขยับขึ้นเป็นถึง 30เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
และคาดว่าราคาน้ำมันดิบปีนี้จะ เฉลี่ยราว40-50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ นโยบายของกลุ่ม
ปตท.ที่ทำมาตลอดคือประเมินความเสี่ยงทุกระยะ ลดต้นทุนค่าดำเนินการ
โครงการใหม่ๆก็เลื่อนไปก่อน ล่าสุด ได้มีการเสนอตัดงบดำเนินงานหลายพันบาทต่อบอร์ด
ปตท.30เม.ย. แต่บอร์ดยังไม่อนุมัติให้ทบทวนอีกรอบ
โดยให้นโยบายทบทวนการลงทุนที่ไม่เน้นการส่งออก เพราะช่วงโควิด-19นี้
เห็นชัดเจนว่า ไม่สามารถส่งออกได้ เพราะความต้องการตลาดโลกหดตัว ต้องลดกำลังกลั่น
น้ำมันเครื่องบินขายไม่ได้ต้องปรับไปเป็นดีเซลหรือ ปิโตรเคมี โดย ซีอีโอ คนใหม่
คือนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่จะเข้ามาเริ่มงานแทนตนตั้งแต่ 13พ.ค.นี้ก็จะทำแผนทบทวนเสนอบอร์ดอีกรอบหนึ่ง
” ธุรกิจในกลุ่ม ปตท.ได้ดูเรื่อง ความร่วมมือ
หรือ optimization เพื่อลดต้นทุน
ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยบอร์ดให้ดูว่า
การลงทุนเพื่อส่งออก หากทำเพิ่มจะกระทบอย่างไร เพราะ โควิด-19
รอบนี้เห็นชัดส่งออกไม่ได้ ต้องลดกำลังผลิตและพึ่งพาตลาดในประเทศ ดังนั้น
อะไรที่ไม่จำเป็นก็เลื่อนลด-ละ-เลื่อน” ได้แก่ “ลด”
ค่าใช้จ่ายและการจ้างงานบุคคลภายนอกโดยเน้นดำเนินงานด้วยตนเองให้มากที่สุด
“ละ” การเดินทางและกิจกรรมที่ไม่จำเป็น “เลื่อน”
การลงทุนที่ไม่เร่งรัดโดยการจัดลำดับความสำคัญของโครงการลงทุน โดยคาดว่าทั้งกลุ่มปตท.จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน
(OPEX) และทบทวนปรับลดแผนการลงทุน (CAPEX) ในปี
63 ได้ประมาณ 10-15%”นายชาญศิลป์กล่าว
นอกจากนี้ในด้านการบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งด้านการเงิน
ของกลุ่มปตท. ได้จัดหาสภาพคล่องจากวงเงินกู้ธนาคาร หรือการกู้ยืมระหว่างกันในกลุ่ม
ปตท. การจัดเตรียมหาแหล่งเงิน (Prefunding) ตามสภาพตลาดที่เหมาะสม
รวมถึงทบทวนการนำเงินไปลงทุนระยะสั้น
โดยเน้นการลงทุนในเครื่องมือที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง
บริหารความเสี่ยงลูกหนี้ และเจ้าหนี้การค้าเพื่อรักษาสภาพคล่อง และมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม
รวมถึงบริหารภาษีจากมาตรการช่วยเหลือทางภาษีต่าง ๆ ตามประกาศของภาครัฐ
นายชาญศิลป์ซึ่งได้ดำรงตำแหน่ง ซีอีโอ ประมาณ1ปี8เดือน
กล่าวว่า แม้ในช่วงที่ตนทำงานจะประสบวิกฤติโควิด-19
แต่สิ่งที่ กลุ่ม ปตท.เดินหน้าไปด้วยกันคือรักษาความมั่นคงพลังงานควบคู่การร่วมมือดูแลคนไทย
และน่าภาคภูมิใจที่ ปตท.ได้รับรางวัลรางวัลองค์กรโปร่งใส2ปีซ้อน
จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส
ตรวจสอบได้ ซึ่งแม้ว่าผลประกอบการไตรมาส1/63
ย่ำแย่ก็เป็นผลจากตลาดโลก กระทบไทยทั้งโควิด-19
และสงครามราคาน้ำมันที่ยากต่อการควบคุม และ กลุ่ม
ปตท.จะไม่ประสบปัญหาล้มละลายเหมือนHin Leong (ซิงหลง)
บริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ในสิงคโปร์ ที่คาดการณ์ผิดพลาด จากการเป็นเทรดเดอร์น้ำ
เพราะกลุ่ม ปตท.ซื้อขายน้ำมันเพื่อการผลิตและจำหน่ายที่ใช้จริง
แม้ควบคุมความเสี่ยงแต่ก็ต้องได้รับผลจากการขาดทุนสตอก
ส่วนโครงการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวโดยเปิดให้บุคคลที่
3 มาใช้ท่อ ปตท.นั้น นายชาญศิลป์
กล่าวว่าทุกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปตท.คงไม่สามารถผูกขาด
ได้ต้องปรับตัวร่วมมือกับมืออาชีพ
เพื่อบริหารให้ดีที่สุด เช่นเดียวกับธุรกิจขายปลีกน้ำมัน ที่ผ่านมา
ปตท.ลดการผูกขาดหน่วยงานรัฐไปแล้ว และการที่จะกระจายหุ้นบริษัทในเครือ
ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
กลุ่ม ปตท. เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำธุรกิจกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด
และสามารถปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อรองรับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน
รวมทั้งวางแผนปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อให้ กลุ่ม ปตท.
มีความพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการประเมินฐานะการเงิน
แม้เป็นกรณี Stress case ปตท. และกลุ่ม ปตท.
ยังคงสามารถลงทุนตามแผนการลงทุน (committed capital expenditure) 5
ปีตามมาตรการ ลด ละ เลื่อน และสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ น่าลงทุน
(investment grade) และหรือสูงกว่า ทั้งนี้ ปตท.
สามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ BBB+ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับประเทศ
โดยยังมีสภาพคล่องที่สูงและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
สำหรับผลการดำเนินงานของ ปตท. ในไตรมาส 1/63
มีผลขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิ 29,312
ล้านบาทในไตรมาส 1/62 และกำไรสุทธิ 17,446
ล้านบาทใน/ตรมาส 4/62 โดยมียอดขาย 483,567
ล้านบาท ลดลง 12.2% จากงวดปีก่อน และลดลง 13.7%
จากไตรมาสก่อน ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี
,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส
1/63 ที่ 32,385
ล้านบาท ลดลง 59.8% จากไตรมาส 1/62
สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีขาดทุนจากสตอกกน้ำมันในไตรมาส 1/63
ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมากในสิ้นไตรมาส1/63มาอยู่ที่
23.4 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากระดับ 67.3
ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในสิ้นไตรมาส 4/62
การขาดทุนสตอกกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี
ขณะที่ธุรกิจก๊าซฯมีผลการดำเนินงานลดลงจากราคาและปริมาณขายที่ลดลง
ธุรกิจน้ำมันมีผลขาดทุนสตอกและปริมาณขายที่ลดลง คาดว่าปริมาณขายเฉลี่ยในปีนี้จะต่ำกว่าแผนที่ตั้งไว้ประมาณ
7%
จากปริมาณขายที่ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ในภาคไฟฟ้าและปิโตรเคมี
–ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คาดว่าความต้องการใช้ในปีนี้จะลดลง
5-10% จากปีก่อน
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ
และธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง
ขณะที่ธุรกิจระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และธุรกิจสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG
Receiving Terminal) ผ่านบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT
LNG) จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
เนื่องจากปริมาณขายและอัตราค่าบริการถูกกำหนดไว้ตามประกาศที่อนุมัติโดยภาครัฐ
–ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก
รวมถึงการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นในประเทศ
และปริมาณความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง
ส่งผลให้ปริมาณขายของธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปรับตัวลดลง
โดยเฉพาะปริมาณการน้าเข้า (Out-In) และปริมาณการค้านอกประเทศ (Out
– Out) ซึ่งจากการประมาณการคาดว่าปริมาณขายในปี 63
จะลดลงจากปี 62 ประมาณ 3-5%
ขณะที่กำไรขั้นต้น อาจจะลดลงตามปริมาณขายที่ลดลง
เนื่องจากตลาดอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาด
–ธุรกิจน้ำมัน
ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ของประเทศที่ลดลงส่งผลต่อปริมาณการจำหน่ายของทั้งธุรกิจน้ำมัน
และธุรกิจค้าปลีก ซึ่งจะแปรผันตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่ง
GDP ของไทยได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก
ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ามันสำเร็จรูปทั้งน้ำมันอากาศยาน
น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน
–ธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี
ผลิตภัณฑ์ของโรงกลั่นที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือน้ำมันอากาศยาน
จากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย
ให้หยุดการดำเนินงานของสายการบินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท.
ได้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิต โดยลดปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยานลง
และหันไปผลิตน้ำมันดีเซลแทน เนื่องจากปริมาณความต้องการในตลาดยังไม่ลดลงมากนัก
ทำให้กลุ่ม ปตท. คาดการณ์อัตรากำลังการผลิต (Utilization Rate) ของโรงกลั่นในกลุ่ม
ปตท. ในปี 63 อยู่ที่ 90-100%
–ธุรกิจไฟฟ้า
กระทรวงพลังงานคาดการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 63 จะลดลง
0.7% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2-3% ซึ่งธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม
ปตท. ที่จำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ในขณะที่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว.-สำนักข่าวไทย