พรรคประชาธิปัตย์ 9 พ.ค.-รองโฆษก ปชป.ห่วงเลื่อนเปิดเทอม กระทบเด็ก ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา แนะเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปัญหาสุขภาพจิต เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์
นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แม้สถานการณ์ในปัจจุบันจะเริ่มคลี่คลาย แต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นแล้วในหลายมิติ ทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง โดยเฉพาะด้านการศึกษา จากการที่นักเรียน นักศึกษา ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติจากมาตรการปิดสถานศึกษาและเลื่อนการเรียนการสอน และกระทรวงศึกษาธิการได้เลื่อนเปิดภาคเรียน จากกลางเดือนพฤษภาคมออกไปเป็น 1 กรกฎาคม 2563 จากปัจจัยดังกล่าวจึงอาจก่อปัญหาในหลายครอบครัว
นางดรุณวรรณ กล่าวว่า จากงานวิจัยที่น่าสนใจของศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC) ที่ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ครอบคลุมมิติด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และค่านิยม พบ 5 สัญญาณเตือนพ่อแม่ที่ควรพึงระวังในการเตรียมตัวรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ หากเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นมา ได้แก่ 1.ปัญหาสุขภาพจิตและการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ยากจน ที่เด็กต้องพึ่งพาอาหารเช้าและอาหารกลางวันจากทางโรงเรียน เมื่อต้องอยู่บ้าน ทำให้เด็กกลุ่มนี้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลต่อพัฒนาการและสติปัญญาของเด็ก รวมถึงเรื่องสุขภาพจิตของสมาชิกในครอบครัว และปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในครอบครัว ที่อาจเกิดมากขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งพ่อแม่ควรต้องใส่ใจการดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ลูก และสมาชิกในครอบครัวให้มากขึ้น
นางดรุณวรรณ กล่าวอีกว่า 2.การปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์ แม้บางโรงเรียนเริ่มมีการปรับตัวใช้หลักสูตรออนไลน์ โดยมีหลักสูตรให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมการเรียนของลูก แต่โรงเรียนบางแห่งปรับตัวไม่ทัน ไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ ไม่มีหลักสูตรออนไลน์รองรับให้กับนักเรียน ครู หรือพ่อแม่ไม่มีทักษะรองรับ เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน รวมถึงความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ 3.ผลกระทบจากเศรษฐกิจหยุดชะงัก จากมาตรการปิดเมืองได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้สถานะทางการเงินของบางครอบครัวเปลี่ยนไป จากการตกงานเพราะถูกเลิกจ้างกระทันหัน เด็กมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อไปช่วยงานที่บ้าน นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงกลุ่มของนักศึกษาที่หารายได้พิเศษระหว่างเรียน หรือการสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่ จึงทำให้หลายฝ่ายต้องเผชิญสถานการณ์ที่กดดัน เกิดความเครียดสะสมได้
นางดรุณวรรณ กล่าวว่า 4.เด็กและพื้นที่การเรียนรู้ เด็กทุกคนควรมีพื้นที่ที่เหมาะสม ปลอดภัย สำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิต เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เด็กไทยบางกลุ่มไม่มีห้องส่วนตัวในการทำงาน หรือทำการบ้าน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มยากจน ซึ่งอาจส่งผลให้เด็กเกิดภาวะความเครียด ไม่มีสมาธิในการเรียน บางครอบครัวปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตอยู่บ้านตามลำพัง เนื่องจากพ่อแม่ประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ อาจส่งผลต่อเรื่องความปลอดภัยของเด็ก และ 5.ค่านิยมต่อสถานศึกษา การให้ความสำคัญกับโรงเรียน สถานศึกษา และครูผู้สอนอาจเปลี่ยนแปลงไป เพราะคนบางกลุ่มคิดว่าการศึกษาสามารถเรียนผ่านระบบออนไลน์จากบ้านได้ แนวคิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องมีการเรียนเฉพาะในห้องเรียน หรือการเกิด Hybrid Homeschool อาจเกิดแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาและอาชีพครูโดยตรงที่จะต้องปรับตัว
“จากผลกระทบทั้ง 5 ด้านนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวที่กำลังเผชิญปัญหา หากพบปัญหา อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าหากัน พูดคุย ทำความเข้าใจกัน เพื่อช่วยลดความตึงเครียด ทุกปัญหามีทางออก โดยเฉพาะกลไกต่างๆ ของภาครัฐ ที่พร้อมเข้ามาช่วยสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้คลี่คลายไปได้โดยเร็ว พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนผ่านทุกกลไก ทั้งในส่วนของพรรค สภา และรัฐมนตรีของพรรคในทุกกระทรวง เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นางดรุณวรรณ กล่าว.-สำนักข่าวไทย